ประเมินผลการดำเนินงานโครงการอำเภอจัดการระบบสุขภาพ (District Health system อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลการดำเนินงานโครงการอำเภอจัดการระบบสุขภาพอำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) รูปแบบการวิจัยประเมินผลโครงการ เพื่อประเมินผลโครงการตามแบบจำลองซิปโมเดลของสตัฟเฟิลบีม ประเมิน 4 ด้าน คือด้านบริบท ปัจจัยนำเข้า กระบวนการดำเนินงานและผลผลิตจากโครงการ โดยเก็บข้อมูลจากรายงานผลการดำเนินงาน และการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก จากผู้ให้ข้อมูลหลัก จำนวน 40 คน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เชิงเนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1. คณะกรรมการสุขภาพอำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด ผู้บริหารหน่วยงานสาธารณสุขระดับอำเภอ และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานระบบสุขภาพระดับตำบล เห็นว่าโครงการอำเภอจัดการระบบสุขภาพเป็นนโยบายที่ดี มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพปัญหาในปัจจุบัน และสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการระบบสุขภาพของพื้นที่ได้ อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม
2. การบริหารจัดการโครงการ มีข้อเด่นคือการจัดการแบบมีส่วนร่วม ทั้งด้านการวางแผน การดำเนินกิจกรรม การจัดการงบประมาณ และการติดตามประเมินผล
3.กระบวนการดำเนินงาน มีการแต่งตั้งคณะทำงานดำเนินโครงการะดับอำเภอและระดับตำบล มีการเตรียมความพร้อมแก่ผู้รับผิดชอบงานและคณะทำงาน มีการประชุมคณะทำงานเพื่อระดมความคิด ติดตามความก้าวหน้า และประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
4.ด้านผลการดำเนินงาน พบว่าอำเภอมีแผนการดำเนินงานเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพและเครือข่ายสุขภาพที่สอดคล้องกับสภาพปัญหา และความต้องการของพื้นที่ โดยกลไกการพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอ(DHS)และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราดส่วนใหญ่เห็นว่าโครงการอำเภอจัดการระบบสุขภาพอำเภอเขาสมิงจังหวัดตราดมีการทำงานร่วมกันเป็นทีม มีการเตรียมความพร้อมให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้อง มีแนวทางการเตรียมความพร้อมแก่ทีมงานและมีการพัฒนาให้บุคคลากรมีการรับรู้และพึงพอใจในการมีส่วนร่วม มีการวางแผนการใช้งบประมาณและบุคลากรร่วมกัน หน่วยงานและภาคีต่างๆมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน การจัดบริการสุขภาพครอบคลุมกลุ่มประชากรเป้าหมายและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และผลการประเมินตามคุณลักษณะ 5 ด้าน (UCARE) ตามเกณฑ์การประเมินอำเภอจัดการสุขภาพในแต่ละประเด็นอยู่ในขั้นที่ 4.5
ผลจากการประเมินสะท้อนให้เห็นว่าทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชน เห็นสอดคล้องกันว่าโครงการอำเภอจัดการระบบสุขภาพอำเภอ จังหวัดตราดเป็นโครงการที่เหมาะสม อำเภอสามารถนำนโยบายไปกำหนดแนวทาง/ยุทธวิธี เพื่อแก้ปัญหาได้ของพื้นที่ ในระดับมากที่สุด และเห็นว่านโยบายนี้สามารถแก้ปัญหาบนพื้นฐานจากข้อมูลสภาพปัญหาโรคและภัยสุขภาพที่เป็นจริงและสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ และเป็นการส่งเสริมให้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องในระดับอำเภอ เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาระบบสุขภาพของพื้นที่ อย่างเป็นรูปธรรม
คำสำคัญ : ระบบสุขภาพอำเภอ