การศึกษาสถานการณ์ งานสุขภาพภาคประชาชน ในปัจจุบันและทิศทาง การพัฒนาในอนาคต

ผู้แต่ง

  • นายชาติชาย สุวรรณนิตย์

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์การดำเนินงานสุขภาพภาคประชาชนในปัจจุบันและทิศทางการพัฒนางานสุขภาพภาคประชาชนในอนาคต ใช้รูปแบบวิธีการวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Methods Research) เก็บรวบรวมข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม คือ (1) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม. ) จำนวน 967 คน (2) เครือข่ายสุขภาพภาค-ประชาชนระดับอำเภอและตำบล จำนวน 160 คน และ (3) ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสาธารณสุขและสุขภาพภาคประชาชน จำนวน 24 ท่าน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล มีจำนวน 3 ชุด ได้แก่ ชุดที่ 1 แบบสอบถามอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ชุดที่ 2 แนวทางการสนทนากลุ่มเครือข่ายสุขภาพภาคประชาชน และชุดที่ 3 แนวทางการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ทรงคุณวุฒิ การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ การแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์ข้อมูลเนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัยมีดังนี้ 

1. บทบาทของ อสม. ในการดำเนินงานสุขภาพภาคประชาชนประกอบด้วย บทบาทในทีมหมอครอบครัว ที่ปฏิบัติมากที่สุด ได้แก่ การสำรวจ/รวบรวมข้อมูลผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง
ผู้พิการ เพื่อใช้ประโยชน์ ในการจัดบริการสุขภาพและการเป็นแบบอย่างที่ดีด้านพฤติกรรมสุขภาพ
บทบาทในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพภาคประชาชน ได้แก่ การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์/จัด
รณรงค์ให้ความรู้ในการเข้าถึงบริการและสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพบทบาทในการดำเนินงาน
ตำบลจัดการสุขภาพและหมู่บ้านจัดการสุขภาพได้แก่ การจัดกิจกรรมและร่วมรณรงค์ด้านสุขภาพดี
วิถีไทยบทบาทในการทำงานร่วมกับชมรม อสม.ได้แก่ การประสานแลกเปลี่ยนข้อมูลการทำงานใน
พื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนางาน

2. ผลสัมฤทธ์ิของงานสุขภาพภาคประชาชนได้แก่ การลดปัญหาสุขภาพในชุมชน เช่น โรคไข้เลือดออก โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงการลดปัจจัยเสี่ยงหรือปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีสุขภาพดี เช่น การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย จัดสถานที่ออกกำลังกาย สร้างรั้วกินได้ การกำหนดมาตรการทางสังคม เช่น ข้อตกลงงดเหล้าในงานบุญ ไม่สูบบุหรี่ในสถานศึกษาและวัด การคัดแยกขยะ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ถูกต้อง เช่น การลดการบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา ไม่ใช้ยาและสารเสพติด

3. ทิศทางการพัฒนางานสุขภาพภาคประชาชนในอนาคตการพัฒนาบทบาทและศักยภาพ อสม.      ควรสร้างอุดมการณ์และจิตอาสาให้กับ อสม. รุ่นใหม่ เปิดโอกาสให้กลุ่มจิตอาสาเข้ามาร่วมทำงานกับ อสม. และบุคลากรสาธารณสุขคัดเลือก อสม. ที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด มีจิตอาสามีความสมัครใจและมีความพร้อม เป็นแบบอย่างด้านสุขภาพได้ ชาวบ้านยอมรับ การพัฒนาศักยภาพอสม. ควรมีการสำรวจประเมินความต้องการอบรมของ อสม. และเพิ่มศักยภาพที่จำเป็น เช่น ความรู้เรื่องการทำกายภาพบำบัด การนวด การดูแลผู้ป่วยติดเตียงการเจาะเลือด การคัดกรองโรค ฯลฯ ควรพัฒนาศูนย์
ฝึกอบรมและพัฒนาสุขภาพภาคประชาชน (เดิม) ให้มีบทบาทในการพัฒนาศักยภาพ อสม. มีการทำการศึกษาวิจัย ประเมินผลงานและประเมินศักยภาพของ อสม. สถาบันฝึกอบรม อสม. ส่วนกลาง ควรมี    การกำหนดทิศทางการพัฒนา อสม. ที่ชัดเจน และเผยแพร่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบสร้างขวัญและกำลังใจ อสม. ในรูปแบบต่างๆ แนวทางการบริหารจัดการเงินค่าป่วยการของ อสม. หน่วยงานส่วนกลางควรพิจารณาแนวทางในการส่งเสริมเพื่อค้นหารูปแบบที่เหมาะสมที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ โดยจะต้องพิจารณาให้รอบคอบในด้านเงื่อนไขและความพร้อมของแต่ละพื้นที่ 

4. การเตรียมความพร้อมงานสุขภาพภาคประชาชนเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ควรมีการพัฒนาหลักสูตรอบรมเพื่อให้ความรู้ที่จำเป็นกับอาสาสมัครต่างด้าว (อสต.) เรื่องโรคระบาดและภัยพิบัติต่างๆ รวมทั้งการพัฒนาระบบที่จะดูแลรักษากลุ่มบุคคลเหล่านี้ไว้ให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง

 

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2018-04-19