This is an outdated version published on 2022-05-01. Read the most recent version.

The Long COVID

Authors

  • Sittichai Tantipasawasin Chonburi hospital

Abstract

โรคโควิด-19 (COVID-19) เป็นโรคติดเชื้อจากไวรัสโคโรนา 2019 (SARS-CoV-2) ที่มีการระบาดทั่วโลก ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการหรือมีอาการแสดงไม่รุนแรง คล้ายคลึงกับโรคติดเชื้อไวรัสของระบบทางเดินหายใจอื่นเช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ปวดศีรษะ หอบเหนื่อย หายใจเร็ว แต่ผู้ติดโรคโควิด-19 อาจมีอาการจำเพาะเช่นการสูญเสียการดมกลิ่น หรือการรับรสเปลี่ยนแปลงไป ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ได้รับการรักษาแบบประคับประคอง ผู้ป่วยร้อยละ 5-8 พบพยาธิสภาพที่เนื้อเยื่อปอด ทำให้การทำงานของปอดบกพร่อง ตั้งแต่พบการติดเชื้อที่เมืองฮูหัน ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2562 จนถึงปัจจุบัน มีรายงานผู้ติดเชื้อทั่วโลก 513,624,000 คน และมีผู้เสียชีวิตแล้วทั้งสิ้น 6,23 ล้านราย สำหรับประเทศไทยจากรายงานกระทรวงสาธารณสุขพบผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 4.24 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิต 28,526 ราย ณ วันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2565

เมื่อเกิดการติดเชื้อไวรัส เชื้อไวรัสจะอยู่ในร่างกายของมนุษย์ตลอดชีวิต มีข้อมูลวิชาการทางการแพทย์มากขึ้นที่ชี้ให้เห็นว่าการติดเชื้อโรคโควิด-19 ไม่ใช่แค่ติดเชื้อ รักษาหายแล้วจบ แต่พบว่ามีโอกาสที่จะเกิดภาวะอาการแสดงผิดปกติคงค้าง หรือมีอาการแสดงผิดปกติใหม่เกิดขึ้น เรียกอาการแสดงผิดปกติคงค้างหรืออาการแสดงผิดปกติใหม่ที่คงอยู่นานกว่า 4 สัปดาห์ว่า ลองโควิด (Long COVID) เชื่อว่าเกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เอง เกิดจากกระบวนการอักเสบต่อเนื่องระยะยาวในระบบต่างๆของร่างกาย หรืออาจเกิดภาวะภูมิต้านทานตนเอง (Autoantibody)

          ลองโควิดเป็นกลุ่มอาการแสดงผิดปกติที่เกิดขึ้นมากถึง 200 อาการ ทั้งในระบบประสาท หัวใจ หลอดเลือด ทางเดินอาหาร ผิวหนัง ฯลฯ อาการแสดงในแต่ละระบบที่แตกต่างกันไปดังนี้

ระบบทางเดินหายใจ อาการเหนื่อย หายใจไม่อิ่ม หายใจไม่สะดวก

ระบบหัวใจและหลอดเลือด อาการใจสั่น แน่นหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว

ระบบทางเดินอาหาร ปวดท้อง ท้องเสีย ลดความอยากอาหาร

อาการอื่นๆ ที่ไม่จำเพาะเจาะจงต่อระบบใดๆ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดตามข้อ ไม่มีแรง อ่อนเพลีย

ความผิดปกติที่พบได้จากการตรวจเลือดโดยไม่มีอาการ เช่น ค่าเอนไซม์ตับสูงขึ้นผิดปกติ ค่าการกรองและการทำงานของไตลดลง ค่าการทำงานของฮอร์โมนไทรอยด์ผิดปกติ ความสามารถในการควบคุมระดับน้ำตาลลดลงในผู้ป่วยเบาหวาน และค่าระบบการแข็งตัวของเลือดที่ผิดปกติ เป็นต้น

อุบัติการณ์ลองโควิดสูงถึง 4.7-80% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด สามารถเกิดขึ้นในผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในทุกเพศ ทุกวัย และทุกความรุนแรง ตลอดจนในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ ผู้ใหญ่มีความเสี่ยงมากกว่าเด็ก เพศหญิงมีความเสี่ยงสูงกว่าเพศชาย พบมากในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง สูงกว่าผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง

หากคุณเคยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีจนหายแล้ว คุณลองสังเกตตัวเองดูว่าอาการที่เคยมีขณะที่ติดเชื้อ เช่นอาการเหนื่อย เพลีย ยังคงมีหลงเหลืออยู่หรือไม่? ถ้าคำตอบคือ “ยังคงอยู่” มีความเป็นไปได้ว่า คุณอาจกำลังตกอยู่ในภาวะลองโควิด (Long COVID)

ลองโควิดส่งผลต่อสมรรถนะในการดำรงชีวิตประจำวัน สมรรถนะในการทำงานภายหลังการหายจากการติดเชื้อ เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายระยะยาวต่อบุคคล ครอบครัว และสังคม การป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อ Covid-19 ย่อมดีที่สุด การป้องกันภาวะโพสท์โควิดที่สามารถทำได้ดีที่สุด ณ เวลานี้คือการป้องกันตัวเองไม่ให้ติดโรคโควิด-19 ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 และวัคซีนเข้มกระตุ้นภูมิคุ้มกันตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข สวมใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคมโดยอยู่ห่างจากผู้อื่น 1-2 เมตร เลี่ยงบริเวณแออัดและอากาศถ่ายเทไม่สะดวก ล้างมือบ่อยๆ ดูแลสุขภาพร่างกายและออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหากมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยเพื่อนำไปสู่การรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที

บรรณาธิการ

ทพ.สิทธิชัย ตันติภาสวศิน

Author Biography

Sittichai Tantipasawasin, Chonburi hospital

chairman of oral and maxillofacial surgery department

Published

2022-05-01

Versions