This is an outdated version published on 2023-06-01. Read the most recent version.

The Heat Stroke

Authors

  • Sittichai Tantipasawasin Chonburi hospital

Keywords:

heat stroke

Abstract

จากสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นมากในช่วงฤดูร้อนนี้ ทำให้พบการเกิดความเจ็บป่วยอันเกี่ยวเนื่องกับความร้อนเพิ่มสูงขึ้น พบตั้งแต่อาการรุนแรงน้อยจนถึงอาการรุนแรงมาก ผู้ป่วยที่มีอาการน้อยอาจพบเพียงอาการบวมตามปลายมือ ปลายเท้า มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ เวียนหัว ผู้ป่วยที่มีอาการมากขึ้นมีอาการของการสูญเสียน้ำและอาการขาดน้ำ และกลุ่มที่รุนแรงที่สุดคือผู้ป่วยฮีทสโตรก

ฮีทสโตรก (Heat stroke) หรือโรคลมแดด พบบ่อยในช่วงฤดูร้อน เกิดจากการที่อยู่ท่ามภาวะแวดล้อมที่ร้อนจัดเป็นระยะเวลานาน ทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิแกนร่างกายสูงผิดปกติ ส่งผลให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติของสมองในส่วนการควบคุมสมดุลอุณหภูมิของร่างกายทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงเกิน 40.5 องศาเซลเซียส ซึ่งส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตและระบบสมอง

สัญญาณเตือนที่สำคัญของโรคฮีทสโตรก คือไม่มีเหงื่อออกแม้อากาศจะร้อน หน้าแดง ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ

รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ หน้ามืด หายใจเร็ว คลื่นไส้อาเจียน กล้ามเนื้อเกร็ง มึนงง สับสน รูม่านตาขยาย ชัก ความรู้สึกตัวลดน้อยลง จนถึงหมดสติ หัวใจเต้นเร็วแต่แผ่วเบา ซึ่งแตกต่างจากอาการเพลียแดดทั่วๆ ไปที่ยังคงมีเหงื่อออกมากร่วมด้วย ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องและทันเวลา จะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อหัวใจ สมอง ไต และกล้ามเนื้อ อาจทำให้หัวใจหยุดเต้น และถึงแก่ชีวิตได้

ผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคฮีทสโตรก คือ ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ที่อดนอน ผู้ที่ดื่มเหล้าจัด ผู้ที่ทำงานในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอ้วน รวมถึงนักกีฬา และทหารที่เข้ารับการฝึก โดยไม่มีการเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมที่จะเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด

การปรับพฤติกรรมสุขภาพเพื่อป้องกันโรคฮีทสโตรก คือ ดื่มน้ำ 1-2 แก้วก่อนออกจากบ้าน ในวันที่มีอากาศร้อนจัดควรสวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน โปร่ง ไม่หนา น้ำหนักเบา และสามารถระบายอุณหภูมิความร้อนได้ดีและป้องกันแสงแดดได้ หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดหรือ การเล่นกีฬาในสภาพอากาศที่ร้อนจัด หรืออยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนเป็นเวลานาน ในเด็กเล็กและคนชราควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษโดยให้อยู่ในห้องที่มีอากาศระบายได้ดี และไม่ให้เด็กหรือคนชราอยู่ในรถที่ปิดสนิทโดยลำพัง

หากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อน หรือออกกำลังกลางสภาพอากาศร้อน ควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม และแม้จะทำงานในที่ร่มก็ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว ก่อนออกจากบ้านควรใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15 ขึ้นไป และไม่ทาครีมกันแดดหนาจนเกินไป ในกรณีที่ต้องไปทำงานท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนจัด ควรเป็นบุคคลที่มีสุขภาพแข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้งๆ ละ 30 นาที ปรับร่างกายให้เคยชินกับสภาพอากาศร้อนจัด และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

หากพบเจอผู้เป็นโรคฮีทสโตรกสามารถช่วยเหลือเบื้องต้น โดยนำเข้าในที่ร่ม อากาศถ่ายเทได้สะดวก นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้างเพื่อเพิ่มการไหลเวียน ถ้ามีการอาเจียนให้นอนตะแคงก่อน เมื่ออาเจียนเสร็จแล้วให้นอนหงาย

ถอดเสื้อผ้าให้เหลือน้อยชิ้น คลายเสื้อผ้าที่รัดแน่นออก ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบ ตามซอกลำตัว คอ หน้าผาก รักแร้ ขาหนีบ เพื่อระบายความร้อน อาจพิจารณาใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน ราดน้ำเย็นลงบนตัว เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลง ได้รวดเร็วขึ้น หากไม่หมดสติให้ดื่มน้ำเปล่ามากๆ  หรือให้ดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่และนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

 

ร้อนจัดต้องระวังฮีทสโตรก “โรคลมแดด” อันตรายถึงชีวิต

Author Biography

Sittichai Tantipasawasin, Chonburi hospital

chairman of oral and maxillofacial surgery department

Downloads

Published

2023-04-30 — Updated on 2023-06-01

Versions