การพัฒนาแนวทางแก้ปัญหาผู้ป่วยโรคหืดไม่ได้รับยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดสูดพ่นโรงพยาบาลไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี

ผู้แต่ง

  • สิทธิพร สุทธิทวีสุข กลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค โรงพยาบาลไทรน้อย

คำสำคัญ:

แนวทางแก้ปัญหา, โรคหืด, ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดสูดพ่น

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัย และ สาเหตุ ที่ผู้ป่วยโรคหืดไม่ได้รับยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดสูดพ่น จากนั้นพัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหา
วิธีการ: เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (action research) ผู้วิจัยได้ทบทวนเวชระเบียนย้อนหลังเพื่อหาปัจจัยและสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยโรคหืดไม่ได้รับยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดสูดพ่น และดำเนินหาแนวทางการแก้ปัญหานี้ แนวทางแก้ไขปัญหาได้รับการอภิปรายในการสนทนากลุ่ม ประกอบด้วยแพทย์ เภสัชกร และ พยาบาล จากนั้นได้แจ้งแก่คณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัดเพื่อนำมาปฏิบัติในโรงพยาบาล และเก็บรวบรวมข้อมูล
ผลการวิจัย: จากการเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2562 ถึง 31 ธันวาคม 2562 มีผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคหืดทั้งหมด 274 ราย ผู้ป่วยโรคหืดที่ได้รับยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดสูดพ่น จำนวน 210 ราย (ร้อยละ 76.64) จากการทบทวนผู้ป่วยโรคหืดที่ไม่ได้รับยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ จำนวน 64 ราย พบว่าสาเหตุของปัญหาที่พบมากที่สุด ได้แก่ ผู้ป่วยไม่ได้รับใบนัดจากแผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉินหรือได้รับใบนัดแล้วไม่มาตามนัด จากสาเหตุของปัญหาสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ปัจจัย ได้แก่ 1. ปัจจัยด้านการรักษาพยาบาล 2. ปัจจัยด้านระบบการนัดหมาย และ 3. ปัจจัยของผู้ป่วยเอง หลังจากการสนทนากลุ่มได้กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหา เช่น เมื่อผู้ป่วยโรคหืดมารักษาที่แผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ให้แพทย์พิจารณาให้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดสูดพ่น ตามความเหมาะสม ทุกสิทธิ และนัดเข้าคลินิกโรคหืด หรือ นัดพบแพทย์ในเวรเช้า หลังจากแก้ไขปัญหา และ เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2563 ถึง 30 มิถุนายน 2563 มีผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคหืดทั้งหมด 213 ราย ผู้ป่วยโรคหืดได้รับยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดสูดพ่น จำนวน 177 ราย (ร้อยละ 83.10) โดยมีผู้ป่วยได้รับยาครั้งแรกเพิ่มขึ้นจากแนวทางการแก้ไขปัญหา จำนวน 12 ราย (ร้อยละ 5.63) แผนกผู้ป่วยนอกมีผู้ป่วยโรคหืดได้รับยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดสูดพ่นมากที่สุด (ร้อยละ 92.35) ในขณะที่แผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉินมีผู้ป่วยได้รับยาน้อยที่สุด (ร้อยละ 26.67)
สรุป: ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า การหาปัจจัย, สาเหตุของปัญหา และพัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหา สามารถทำให้ร้อยละผู้ป่วยโรคหืดได้รับยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดสูดพ่น เพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 83.10 ผ่านเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 โดยโรงพยาบาลไทรน้อยดำเนินงานตามแนวทางโครงการ RDU hospital โดยมีคณะกรรมการเภสัชกรรมแลiะการบำบัด (PTC) เป็นกลไกสำคัญในการดำเนินการตลอดจนติดตามประเมินผลตัวชี้วัด

ประวัติผู้แต่ง

สิทธิพร สุทธิทวีสุข, กลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค โรงพยาบาลไทรน้อย

ภ.ม. (เภสัชกรรมชุมชน)

เอกสารอ้างอิง

พิสนธิ์ จงตระกูล. การใช้ยาอย่างสมเหตุผลใน Primary care. พิมพ์ครั้งที่ 3. เชียงใหม่: วนิดาการพิมพ์; 2559. หน้า 3-5.

สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service plan) สาขาพัฒนาระบบบริการให้มีการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (Service plan:Rational Drug Use). นนทบุรี: กลุ่มงานพัฒนาระบบสนับสนุนบริการ; 2559. หน้า 40, 63-4.

ดาริกา วอทอง, เนสีนี ไชยเอีย, วัชรา บุญสวัสดิ์. ลักษณะอาชีพและปัจจัยกระตุ้นการเกิดโรคหืดของผู้ป่วยที่เข้ารับบริการคลินิกโรคหืดในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น. ศรีนครินทร์เวชสาร 2557;29(3):223-30.

โสมมนัส โกยสวัสดิ์. ผลสัมฤทธิ์ของคลินิกโรคหืด โรงพยาบาลกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์. วารสารการแพทย์ โรงพยาบาลศรีสะเกษ 2555;27(1):33-42.

ดนัย พิทักษ์อรรณพ, บังอร ม่วงไทยงาม. การพัฒนาระบบบริการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหืดที่มารับการรักษาที่คลินิกโรคหืดแบบบูรณาการ โรงพยาบาลสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท. วารสารวิชาการสาธารณสุข 2561;27(5):856-65.

วศินี วีระไวทยะ. ผลลัพธ์ของการจัดตั้งคลินิกโรคหืดอย่างง่าย โรงพยาบาลสามร้อยยอด. วารสารแพทย์เขต 4-5 2562;38(1):51-60.

มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ. รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการผลลัพธ์ต่อพฤติกรรมการสั่งยาและผู้ป่วยจากการดำเนินงานโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาสมเหตุผล ได้รับทุนอุดหนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.). 2563: หน้า 133-45.

สุมาลี ท่อชู, รุ่งทิวา หมื่นปา. ผลลัพธ์ของการดำเนินโครงการโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในอำเภอหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์. วารสารเภสัชกรรมไทย 2560;9(2):463-74.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2022-01-09