ประสิทธิผลของรูปแบบการวางแผนจำหน่ายต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคเนื้องอกสมองหลังผ่าตัด
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นรูปแบบของการวิจัยและพัฒนา (Research and Development: R&D) เพื่อศึกษาสภาพการณ์การวางแผนจำหน่ายในผู้ป่วยโรคเนื้องอกสมองหลังผ่าตัด พัฒนารูปแบบการวางแผนจำหน่ายที่เป็นมาตรฐาน และประเมินประสิทธิผลของการใช้ของรูปแบบการวางแผนจำหน่ายที่พัฒนาขึ้น ณ สถาบันประสาทวิทยา หลังจากประชุมกลุ่มพยาบาลวิชาชีพที่เกี่ยวข้องจำนวน 20 คนและสืบค้นจากเวชระเบียน 201 แฟ้ม ได้ข้อสรุปคือยังไม่มีรูปแบบการวางแผนจำหน่ายที่ชัดเจน ไม่มีคู่มือหรือแนวการให้คำแนะนำก่อนจำหน่าย และวิดีทัศน์การให้ความรู้ไม่เหมาะสม จึงค้นคว้าข้อมูลจนได้หลักฐานเชิงประจักษ์จากการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบจำนวน 32 เรื่อง พัฒนาเป็นรูปแบบการวางแผนจำหน่ายโรคเนื้องอกสมองหลังผ่าตัดโดยใช้แนวคิดของแมคคีฮาน (1985) ร่วมกับ D-METHOD ของกองการพยาบาล (2539) ดำเนินการประเมินประสิทธิผลผู้ป่วยโรคเนื้องอกสมองทั้งหมดที่ได้รับการผ่าตัดในระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2567 ได้กลุ่มควบคุม 14 คน กลุ่มทดลอง 15 คน จากวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง โดยกลุ่มทดลองได้รับความรู้จากแผนการสอนและสื่อการสอนตามเนื้อหาที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นตามหลัก D-METHOD พร้อมกับได้รับการวางแผนการจำหน่าย 6 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 ประเมินสภาพผู้ป่วยแรกรับพร้อมกับให้ความรู้ก่อนผ่าตัดเนื้องอกสมอง ขั้นตอนที่ 2 ประเมินสภาพผู้ป่วยก่อนผ่าตัดพร้อมกับทบทวนความรู้ก่อนผ่าตัดเนื้องอก ขั้นตอนที่ 3 ประเมินสภาพ ความต้องการและภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยหลังผ่าตัด ขั้นตอนที่ 4 ประเมินสภาพ ทบทวนความรู้และทักษะตามปัญหาเพื่อเตรียมความพร้อมในการดูแลตนเองที่บ้าน ขั้นตอนที่ 5 ติดตามสภาพ อาการผู้ป่วยต่อเนื่องหลังจำหน่าย 1 สัปดาห์ และขั้นตอนที่ 6 ส่งต่อข้อมูลอาการปัจจุบันของผู้ป่วยในวันที่มาพบแพทย์ และประเมินผลด้วยแบบสอบถามคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของผู้ป่วยเนื้องอกสมอง โดยเก็บข้อมูลจำนวน 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 แรกรับ ครั้งที่ 2 ก่อนจำหน่าย 1-2 วัน และครั้งที่ 3 ติดตามประเมินซ้ำ 1 เดือนหลังจำหน่าย วิเคราะห์เปรียบเทียบคะแนนความแตกต่างของค่าเฉลี่ยคะแนนคุณภาพชีวิตภายในกลุ่ม ใช้สถิติ Repeated measurement ANOVA pair t-test และ independent t-test พบว่าค่าเฉลี่ยคะแนนคุณภาพชีวิตแรกรับ ก่อนจำหน่าย และหลังจำหน่าย 1 เดือนของกลุ่มควบคุมเท่ากับ 142.43(±22.15), 138.00(±19.40), 155.79(±29.72) ตามลำดับ ในขณะที่กลุ่มทดลอง เท่ากับ 130.80(±20.08), 139.80 (±18.19), 160.60(±13.85) ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบภายในกลุ่มพบค่าเฉลี่ยภายในกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง มีความแตกต่างกันอย่างน้อย 1 คู่ เมื่อเปรียบเทียบรายคู่ กลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นทุกคู่ (p=0.0000) โดยที่ค่าเฉลี่ยแรกรับและก่อนจำหน่ายภายในกลุ่มควบคุม ไม่มีความแตกต่างกัน จึงสามารถสรุปได้ว่ารูปแบบการวางแผนการจำหน่ายผู้ป่วยโรคเนื้องอกสมองหลังผ่าตัดทำให้คุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของผู้ป่วยเนื้องอกสมองดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .01
ดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
วิธีการอ้างอิง
ฉบับ
บท
การอนุญาต
ลิขสิทธิ์ (c) 2024 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.