ปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการบริหารจัดการงานป้องกันและระงับอัคคีภัยของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี
คำสำคัญ:
ประสิทธิภาพ, การบริหารจัดการ, การป้องกัน, ระงับเหตุอัคคีภัย, มาตรฐานระบบบริการสุขภาพ, โรงพยาบาล เจ้าพระยาอภัยภูเบศรบทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อประสิทธิภาพการบริหารจัดการงาน ป้องกันและระงับเหตุอัคคีภัยของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เจ้าหน้าที่ในสังกัดโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี ที่ปฏิบัติงานอยู่ในปี 2560 จำนวน 306 คน จำแนกเป็น ข้าราชการ 150 คน พนักงานราชการ 77 คน พนักงานกระทรวงสาธารณสุข 44 คน ลูกจ้างประจำ 20 คน และลูกจ้างชั่วคราว 15 คน การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงสำรวจ (Survey Research) ในเดือน พฤษภาคม 2560เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาเป็นแบบสอบถาม ซึ่งผ่านการตรวจสอบคุณภาพและวิเคราะห์แบบสอบถาม ด้วย ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของครอนบาค (Cornbrash’s Alpha Coefficient) มีค่าความเชื่อมั่นอยู่ที่ 0.93 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ( X ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ค่าสหสัมพันธ์พหุคูณ (Multiple Correlation) และการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ (Multiple Regression)
ผลการศึกษาพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ร้อยละ 59.48 , มีอายุระหว่าง 31-40 ปี ร้อยละ 40.84 , เป็นข้าราชการ ร้อยละ 49.01 , มีระดับการศึกษาปริญญาตรี ร้้อยละ 56.20 โดยตัวแปรที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการบริหารจัดการงานป้องกันและระงับเหตุอัคคีภัย มากที่สุด คือ ด้านการบริหารจัดการ (R=0.81) , รองลงมา คือ ด้านวัสดุอุปกรณ์ (R = 0.72) โดยสามารถร่วมกันพยากรณ์ได้ร้อยละ 71.6 ซึ่งมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ เท่ากับ 0.846 โดยด้านการบริหารจัดการ เมื่อจำแนกรายข้อพบว่า (1) การจัดทำแผนป้องกันและระงับเหตุอัคคีภัยที่เป็นไปตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข และระเบียบกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง (2) การสร้างสัมพันธภาพที่ดีในการประสานงานกับหน่วยงานภายนอก และ (3) การจัดให้มีการฝึกอบรมดับเพลิงและอพยพหนีไฟเป็นประจำทุกปี ส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพในงานป้องกันและระงับเหตุอัคคีภัยได้มากที่สุด ตามลำดับ และในด้านวัสดุอุปกรณ์ เมื่อจำแนกรายข้อ พบว่า (1) การติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่เสี่ยง (2) มีการทดสอบตรวจตราวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ให้มีสภาพพร้อมใช้งานอย่างสม่ำเสมอ และ (3) วัสดุอุปกรณ์ต้องเพียงพอต่อการปฏิบัติงานในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอัคคีภัยได้อย่างทันท่วงที ส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพ ในงานป้องกันและระงับเหตุอัคคีภัยได้มากที่สุด ตามลำดับ
ดังนั้น การให้ความสำคัญในด้านการบริหารจัดการ โดยมีการวางแผนงานตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข และกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง การประสานงานที่ดีกับภาคีเครือข่าย การฝึกอบรมให้เกิดความชำนาญเป็นประจำทุกปี รวมถึงการใส่ใจและตรวจตราวัสดุ อุปกรณ์ ให้มีสภาพพร้อมใช้งาน อย่างเพียงพอ และครอบคลุม จะส่งผลให้งานป้องกันและระงับเหตุอัคคีภัยของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี เกิดประสิทธิภาพ
ข้อเสนอแนะ ควรศึกษาในโรงพยาบาลอื่นๆ เพิ่มเติม และส่งเสริมให้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งจัดทำแผนป้องกันและระงับเหตุอัคคีภัยของหน่วยงานให้เป็นไปแนวทาง ระเบียบ กฎหมาย และปฏิบัติตามมาตรฐานระบบบริการสุขภาพของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เพี่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค และป้องกันภาวะเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สินของทางราชการ หากเกิดเหตุอัคคีภัย ภายในสถานพยาบาลของรัฐต่อไป
เอกสารอ้างอิง
มาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ม.ป.ป.) ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้ง ที่ 1 : วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.2552
ระเบียบสำนักนายก รัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2552 (2552, 13 มีนาคม) ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 126 ตอนพิเศษ 39 ง
ธงชัย สันติวงษ์. (2531). หลักการจัดการ. (พิมพ์ครั้งที่ 8). กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพาณิชย์.
นิพาภรณ์ จรัสมาธุสร. (2550). ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการการป้องกันและระงับอัคคีภัยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น: กรณีศึกษาองค์กรปกครองส่วน
ท้องถิ่นในเขตจังหวัด สมุทรสาคร. การศึกษาค้นคว้าอิสระ รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
นิรมล กิตติกุล. (2549). องค์การและการจัดการ. (พิมพ์ครั้งที่ 11). กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
เนตร์พัณณา ยาวิราช. (2550). การจัดการสมัยใหม่. (พิมพ์ครั้งที่ 6). กรุงเทพฯ: ทริปเพิ้ลกรุ๊ป.
ประสิทธิ์ ไชยเวช. (2550). ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน ตามมาตรการด้านการช่วยเหลือผู้ประสบอัคคีภัยของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดเชียงใหม่. รายงานการค้นคว้าแบบอิสระรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
อุมาภรณ์ ขนันไพร. (2550). ปัจจัยบริหารและกระบวนการบริหารที่มีผลต่อการปฏิบัติงานด้านสุขศึกษาของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในศูนย์สุขภาพชุมชนจังหวัดขอนแก่น. วิทยานิพนธ์การบริหารสาธารณสุขมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
ดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
วิธีการอ้างอิง
ฉบับ
บท
การอนุญาต
ลิขสิทธิ์ (c) 2019 Journal of Department of Health Service Support-วารสารวิชาการกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.