การรับรู้ด้านสุขภาพที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันโรคความดันโลหิตสูง ของประชาชนแขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา (Descriptive Research Study)มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการรับรู้ด้านสุขภาพที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันโรคความดันโลหิตสูงของประชาชนแขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานครกลุ่มประชากรคือประชาชนอายุ 30-35 ปีที่มีรายชื่อตามทะเบียนบ้านและพักอาศัยอยู่ในแขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร มากกว่า6 เดือนขึ้นไปจำนวน 205 รายโดยใช้สูตรการคำนวณกลุ่มตัวอย่างที่ทราบจำนวนประชากรที่แน่นอนของ Daniel ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 141ราย ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบมีระบบ เครื่องมือที่ใช้เก็บข้อมูลคือ แบบสอบถามประกอบด้วย 4 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 คุณลักษณะส่วนบุคคล ส่วนที่ 2 การรับรู้ด้านสุขภาพ ส่วนที่ 3 พฤติกรรมการป้องกันโรคความดันโลหิตสูงและส่วนที่ 4 ข้อเสนอแนะ การตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาแบบสอบถามผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญจำนวน 3 ท่านและนำไปทดลองใช้เพื่อวิเคราะห์ค่าความเชื่อมั่นโดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์แอลฟ่าครอนบาคได้ค่าความเชื่อมั่นแบบสอบถาม เท่ากับ 0.80วิเคราะห์ข้อมูลความสัมพันธ์โดยใช้สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน
ผลการวิจัยพบว่า การรับรู้ด้านสุขภาพ ประกอบด้วย การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรค การรับรู้ความรุนแรงของโรค การรับรู้ประโยชน์การป้องกันโรค และการรับรู้อุปสรรคในการป้องกันโรค มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลาง ( =2.08, S.D.=0.360)สำหรับพฤติกรรมการป้องกันโรคความดันโลหิตสูงของประชาชนประกอบด้วย ด้านการรับประทานอาหาร ด้านการออกกำลังกาย ด้านการจัดการอารมณ์ ด้านการสูบบุหรี่และด้านการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับสูง ( =2.63, S.D.=0.484)ผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์พบว่า การรับรู้ด้านสุขภาพมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันโรคความดันโลหิตสูงของประชาชนแขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานครอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(r=0.256, p-value=0.002) เมื่อจำแนกการรับรู้ด้านสุขภาพรายด้าน พบว่า การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคการรับรู้ความรุนแรงของโรคการรับรู้ประโยชน์การป้องกันโรค มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r=0.347, p-value< 0.001, r=0.430, p-value<0.001, r=0.172, p-value=0.041 ตามลำดับ) แต่การรับรู้อุปสรรคในการการป้องกันโรค ไม่พบความสัมพันธ์ทางสถิติ(r=-0.032, p-value=0.707)
คำสำคัญ:การรับรู้ด้านสุขภาพ, โรคความดันโลหิตสูง