โครงการวิจัย การพัฒนาระบบเฝ้าระวัง และส่งเสริมพัฒนาการเด็ก โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน

Authors

  • นางสุจินดา สุขกำเนิด

Abstract

การวิจัยครั้งนี้ใช้รูปแบบการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) เพื่อศึกษาศักยภาพ
และบทบาท อสม. ในการคัดกรองและส่งเสริมพัฒนาการเด็กร่วมกับผู้ดูแลเด็ก พัฒนาหลักสูตรและสื่อ
การเรียนการสอน อสม. และศึกษารูปแบบการมีส่วนร่วมของชุมชนและท้องถิ่นในการเฝ้าระวังและ
ส่งเสริมพัฒนาการเด็กในชุมชน ระหว่างเดือนมีนาคม 2558 - กันยายน 2559 พื้นที่วิจัย คัดเลือก
แบบเจาะจง 4 ตำบล ใน 4 จังหวัด เขตสุขภาพที่ 7 กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วย อสม. ที่สมัครใจ จำนวน
160 คน และ ผู้ดูแลเด็ก จำนวน 192 คน เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ คู่มือ “แนวทางการคัดกรองและ      ส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยโดย อสม.” สื่อ Animation อุปกรณ์ของเล่น และแบบสอบถามผู้ดูแลเด็ก ขั้นตอนการวิจัย อบรมเจ้าหน้าที่ รพ. สต. ตำบลละ 1 คน และแกนนำ อสม. ตำบลละ 2 คน พื้นที่ไปขยายการอบรม อสม. หมู่บ้านละ 2 - 3 คน ตำบลละ 25 - 60 คน (ขึ้นกับจำนวนหมู่บ้าน) จัดทำฐานข้อมูลเด็กกลุ่มเป้าหมายในแต่ละเดือน เพื่อให้ อสม. ไปเยี่ยมบ้าน เพื่อทำการคัดกรองและกระตุ้นพัฒนาการเด็กร่วมกับ   ผู้ดูแลเด็กพร้อมทั้งมีการจัดทำแผนงาน/โครงการการส่งเสริมพัฒนาการเด็กในชุมชน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าร้อยละค่าเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการศึกษา อสม. สามารถคัดกรองพัฒนาการเด็ก จำนวน 192 คน พบว่าพัฒนาการสมวัยโดยรวม 4 ด้าน จำนวน 136 คน    (ร้อยละ 70.83) และเด็กที่สงสัยมีพัฒนาการล่าช้า จำนวน 56 คน (ร้อยละ 29.17) อสม. ร่วมกับ   ผู้ดูแลเด็กสามารถกระตุ้นเด็กที่สงสัยให้กลับมามีพัฒนาการสมวัย จำนวน 51 คน และส่งต่อเด็กที่พัฒนาล่าช้าที่ไม่สามารถกระตุ้นได้ จำนวน 5 คน ไปโรงพยาบาล ซึ่งปัญหาเกิดจากเด็กคลอดผิดปกติและเด็กมีโรคประจำตัว สำหรับการมีส่วนร่วมของชุมชน พบว่า มีการจัดตั้งคณะกรรมการชมรมสายใย  รักแห่งครอบครัวและเกิดโรงเรียนส่งเสริมพัฒนาการเด็กชุมชนบ้านยางน้อย, ต.หนองกุงธนสาร        ได้ของบจาก อบต. จัดพิมพ์โปสเตอร์ชุดพัฒนาการเด็ก 0 - 5 ปี และของเล่น ให้กับครอบครัวที่มีเด็กอายุ 0 - 5 ปี รวมทั้งจัดทำโครงการพี่อ่านหนังสือให้น้อง เพื่อส่งเสริมรักการอ่านให้เกิดขึ้นตั้งแต่เด็กเล็กในชุมชนสำหรับอีก 2 ตำบล เน้นจัดระบบให้ อสม. และชุมชนมีการคัดกรองพัฒนาการเด็กในสุขศาลา และ ศสมช. ทุกเดือน และเยี่ยมบ้านเด็กที่สงสัยพัฒนาการล่าช้าเพื่อร่วมกับผู้ดูแลเด็กในการกระตุ้นพัฒนาการให้สมวัยภายใน 1 เดือน ข้อเสนอแนะ ในการศึกษาครั้งนี้ พบว่า อสม. ให้ข้อคิดเห็นต่อการเลี้ยงดูเด็กของผู้ดูแลเด็ก ที่ส่วนใหญ่เป็น ปู่ ย่า ตา ยาย (ร้อยละ 53.1 ของผู้ดูแลทั้งหมด) ที่นิยมซื้อของเล่นที่ไม่เหมาะสมมาให้ เด็ก เช่น ปืน - มีดดาบพลาสติก ที่ไม่ได้ช่วยกระตุ้นพัฒนาการเด็กเลย และพบว่าไม่มีการกระตุ้นพัฒนาการด้านภาษาโดยการอ่านหนังสือ ซึ่งส่งผลให้ความสามารถทางสติปัญญาและกระบวนการเรียนรู้ของเด็กอาจล่าช้าไม่สมวัย ดังนั้น อสม. จึงมีบทบาทสำคัญมากต่อ      การช่วยเหลือครอบครัวที่ผู้ดูแลเป็นผู้สูงอายุเพื่อช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษาให้กับเด็ก           คำสำคัญ : พัฒนาการเด็ก ระบบเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน

Published

2018-04-19