ความรู้ ค่านิยม วิถีชีวิตกับพฤติกรรม การบริโภคอาหารจานด่วนแบบตะวันตกของนักเรียนวัยรุ่นในพื้นที่เขตเมือ' จังหวัดสมุทรสงคราม

ผู้แต่ง

  • นายคำรน ศรีวงค์ษา

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความรู้ ค่านิยม วิถีชีวิตกับพฤติกรรมการบริโภคอาหารจานด่วนแบบตะวันตก  ของนักเรียนวัยรุ่น  ในพื้นที่เขตเมือง  จังหวัดสมุทรสงคราม  กลุ่มตัวอย่าง คือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 4 – 6 จำนวน  330  คน  เลือกกลุ่มตัวอย่างโดยใช้หลักความน่าจะเป็นจากประชากรนักเรียนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 4 – 6 จำนวน  1,910  คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ แบบสอบถามและการสัมภาษณ์เชิงลึก  วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้สถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วน เบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที (t-test)  การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว (One-way   ANOVA)  การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ด้วยค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน (Pearson’s  Correlation  Coefficient) 

                ผลการศึกษาพบว่า

                กลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุ 17 ปี กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 น้ำหนักตัวเฉลี่ย 54.6 กิโลกรัม ส่วนสูงเฉลี่ย 163.7 เซนติเมตร ภาวะโภชนาการอยู่ในเกณฑ์ปกติ  ได้รับเงินค่าใช้จ่าย  300-500  บาทต่อสัปดาห์ อาศัยอยู่กับพ่อแม่ บิดาและมารดามีการศึกษา อนุปริญญา  บิดาและมารดามีอาชีพ/รับจ้าง ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ครอบครัวมี รายได้เฉลี่ย 10,000 – 29,999 บาทต่อเดือน  มีความรู้ ค่านิยม วิถีชีวิต และพฤติกรรมเกี่ยวกับการ บริโภคอาหารจานด่วนแบบตะวันตกระดับมาก

                การเปรียบเทียบความแตกต่าง พบว่า  ตัวแปรด้านเพศ  ของกลุ่มตัวอย่าง  มีความรู้ เกี่ยวกับการบริโภคอาหารจานด่วนแบบตะวันตก แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < 0.01)  และไม่พบความแตกต่างของตัวแปรข้อมูลทั่วไปอื่นๆ  ของกลุ่มตัวอย่างกับค่านิยมการบริโภคอาหารจานด่วนแบบตะวันตก  วิถีชีวิตเกี่ยวกับการบริโภคอาหารและพฤติกรรมการบริโภคอาหารจานด่วนแบบตะวันตก

                การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ พบว่า ความรู้เกี่ยวกับการบริโภคอาหารจานด่วนแบบตะวันตก วิถีชีวิตเกี่ยวกับการบริโภคอาหาร  และค่านิยมเกี่ยวกับการบริโภคอาหารจานด่วนแบบตะวันตก มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการบริโภคอาหารจานด่วนแบบตะวันตก  อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < 0.01)

                ข้อเสนอแนะ ควรมีการส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชน โดยเฉพาะนักเรียนวัยรุ่น มีความรู้ ความตระหนักและความเข้าใจ ที่ถูกต้องเกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการของอาหารจานด่วนแบบตะวันตก ความต้องการสารอาหารที่จำเป็นและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย  เพื่อให้นักเรียนวัยรุ่นและครอบครัว สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการเลือกบริโภคอาหารจานด่วนแบบตะวันตก ให้เหมาะสมกับสุขภาพร่างกายของตนเอง

คำสำคัญ : การบริโภคอาหารจานด่วนแบบตะวันตก 

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2018-04-05