การศึกษาความพร้อมการพัฒนาวัดส่งเสริมสุขภาพ ที่มีพระคิลานุปัฏฐากผ่านการอบรมเพื่อพัฒนา สู่วัดรอบรู้ด้านสุขภาพตามเกณฑ์มาตรฐานกรมอนามัย ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7

ผู้แต่ง

  • อโนทัย ฝ้ายขาว ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น กรมอนามัย
  • สดุดี ภูห้องไสย ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น กรมอนามัย
  • กัญญา จันทร์พล ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น กรมอนามัย
  • ปาริชาติ ชนะหาญ ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น กรมอนามัย

คำสำคัญ:

พระคิลานุปัฏฐาก, วัดส่งเสริมสุขภาพ, วัดรอบรู้ด้านสุขภาพ

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความพร้อมของวัดส่งเสริมสุขภาพที่มีพระคิลานุปัฏฐากในการพัฒนาสู่วัดรอบรู้ด้านสุขภาพตามเกณฑ์กรมอนามัย ในเขตสุขภาพที่ 7 และประเมินผลการดำเนินงานพระคิลานุปัฏฐาก เป็นการวิจัยประเมินผลทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยใช้แบบสอบถามและถอดบทเรียนการดำเนินงานวิเคราะห์ระบบตามกรอบ CIPPO MODEL กลุ่มตัวอย่างเป็นพระคิลานุปัฏฐาก จำนวน 68 รูป พระสังฆาธิการ 4 รูป และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จำนวน 4 คน จากจังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด รวม 144 รูป/คน เก็บข้อมูลโดยการประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จังหวัดละ 1 วัน ในระหว่างวันที่ 24 - 27 กุมภาพันธ์ 2563 ผลการวิจัยพบว่า ความพร้อมของวัดส่งเสริมสุขภาพที่มีพระคิลานุปัฏฐากเพื่อพัฒนาเป็นวัดรอบรู้ด้านสุขภาพ ตามเกณฑ์กรมอนามัย ภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง ปัจจัยที่มีคะแนนน้อยที่สุดและควรได้รับการพัฒนา คือ ปัจจัยนำเข้า (Input) ได้แก่ ความต้องการได้รับการพัฒนาความรู้ด้านสาธารณสุขรวมถึงเอกสารคู่มือต่างๆ อุปกรณ์ทำงาน เช่น เครื่องวัดความดันโลหิต ปรอทวัดไข้ ยา เป็นต้น และปัจจัยด้านกระบวนการ (Process) ได้แก่ หลักการ/การวางแผน กิจกรรมและวิธีการ ขั้นตอนการดำเนินงาน ความร่วมมือ การบริหารวัสดุ พบว่า พระคิลานุปัฏฐากที่มีบทบาทเป็นผู้บริหาร ญาติโยมและชุมชนจะให้ความร่วมมือต่อการส่งเสริมสนับสนุนโครงการต่างๆ ในชุมชนเป็นอย่างดี ซึ่งพบว่าทั้ง 2 ปัจจัยนี้มีค่าคะแนนทางสถิติ 2.9±0.6 และ 2.8±0.6 ตามลำดับ ส่วนผลการดำเนินงานพระคิลานุปัฏฐาก พบว่า ร้อยละ 100 ได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากภาคีเครือข่ายอย่างดี และร้อยละ 73.6 สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพเพื่อเป็นตัวอย่างแก่พระและโยมได้ผลการถอดบทเรียนจากเรื่องเล่าเร้าพลังและประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พระคิลานุปัฏฐากทุกจังหวัดมีผลงานดีเด่น มีการวางแผนการดำเนินงานเป็นรูปแบบคณะกรรมการ สามารถสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรมซึ่งควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมมือกับชุมชนภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถพัฒนาเป็นวัดรอบรู้ด้านสุขภาพได้ต่อไป ทั้งนี้ควรมีการกำหนดนโยบายส่งเสริมการอบรมพระคิลานุปัฏฐาก ให้ครอบคลุมทุกระดับพื้นที่ ส่งเสริมความรู้ ทักษะการเป็นพระนักสื่อสารให้กับพระคิลานุปัฏฐากสามารถประชาสัมพันธ์เพื่อการรับรู้ของประชาชนและภาคีเครือข่ายทุกระดับได้อย่างต่อเนื่องโดยวางโครงสร้างขององค์กรให้เกิดระบบความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันอย่างชัดเจน แบ่งแยกหน้าที่ที่มีความเกี่ยวข้องด้านนโยบายและมีการพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง กำหนดมาตรฐานเพื่อให้การดำเนินงานในระดับล่างมีความชัดเจนและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น.

 

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-06-30

ฉบับ

บท

Original Articles (บทวิทยาการ)