การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมลพิษทางอากาศ กับการเข้ารับบริการแผนกผู้ป่วยนอก และการเสียชีวิตของประเทศไทย
คำสำคัญ:
มลพิษทางอากาศ, การเข้ารับบริการแผนกผู้ป่วยนอก, การเสียชีวิตบทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมลพิษทางอากาศ และการเข้ารับบริการแผนกผู้ป่วยนอกและการเสียชีวิตของประเทศไทย โดยข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาคือ ข้อมูลมลพิษทางอากาศเฉลี่ยรายวัน (NO2, O3, PM10 และ PM2.5) ข้อมูลสภาพภูมิอากาศ (อุณหภูมิเฉลี่ย และความชื้นสัมพัทธ์) จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ และข้อมูลสุขภาพ ได้แก่ ข้อมูลผู้ป่วยที่เข้ารับบริการแผนกผู้ป่วยนอกด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ (ICD10: J00-J99) และโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด (ICD10: I00-I99) จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้สิทธิการรักษา 30 บาทรักษาทุกโรค ตลอดจนข้อมูลผู้เสียชีวิตจากทุกกลุ่มโรคที่ไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ (ICD10:A00-R99) จากกระทรวงสาธารณสุข ในช่วงระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้รูปแบบการศึกษาแบบอนุกรมเวลาด้วยการใช้สมการ quasi-Poisson Regression Model ในการศึกษาความสัมพันธ์ของระดับมลพิษทางอากาศแต่ละชนิดกับจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับบริการแผนกผู้ป่วยนอก และจำนวนผู้เสียชีวิตในแต่ละจังหวัด จากนั้นผลกระทบในแต่ละจังหวัดถูกนำมาวิเคราะห์ร่วมกันภายใต้สมมติฐานการกระจายตัวแบบสุ่ม (Random Distribution) เพื่อคาดการณ์ผลกระทบของมลพิษทางอากาศต่อการเข้ารับบริการแผนกผู้ป่วยนอกและการเสียชีวิตในระดับประเทศ โดยแสดงด้วยค่าความเสี่ยงสัมพัทธ์(Relative Risk: RR) ต่อการเพิ่มขึ้นของระดับมลพิษทางอากาศ ที่ได้จากการวิเคราะห์อภิมานชนิดตัวแปรสุ่ม (Random-effect Meta-analysis) ผลการศึกษาพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง NO2 PM10 และ PM2.5 และการเข้ารับบริการแผนกผู้ป่วยนอกมีค่าสูงที่สุดที่ Lag 0 โดยมีค่าความเสี่ยงสัมพัทธ์ที่ 1.0533 (95% CI: 1.0386, 1.0682) เมื่อ NO2 เพิ่มขึ้นทุก 10 ppb และมีค่าความเสี่ยงสัมพัทธ์ต่อการเพิ่มขึ้นทุก 10 µg/m3 ของ PM10 และ PM2.5 ที่ 1.0119 (95% CI: 1.0083, 1.0156) และ 1.0123 (95% CI: 1.0065, 1.0182) ตามลำดับ สำหรับความสัมพันธ์ระหว่าง O3 และการเข้ารับบริการแผนกผู้ป่วยนอกมีค่าสูงที่สุดที่ Lag 1 โดยมีค่าความเสี่ยงสัมพัทธ์1.0100 (95% CI: 1.0003, 1.0198) เมื่อ O3 เพิ่มขึ้นทุก 10 ppb นอกจากนี้ค่าความเสี่ยงสัมพัทธ์ของการเสียชีวิตที่สัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นทุก 10 ppb ของ NO2 ที่ Lag 0 มีค่า 1.0302 (95% CI: 1.0188, 1.0418) และความเสี่ยงสัมพัทธ์เมื่อ PM10 และ PM2.5 เพิ่มขึ้นทุก 10 µg/m3 ที่ Lag 0 มีค่า 1.0092 (95% CI: 1.0061, 1.0122) และ1.0220 (95% CI: 1.0142, 1.0298) ตามลำดับ นอกจากนี้ความเสี่ยงสัมพัทธ์เมื่อ O3 เพิ่มขึ้นทุก 10 ppb ที่ Lag 4 มีค่า 1.0100 (95% CI: 1.0030, 1.0171) โดยสรุปการศึกษานี้พบว่า ระดับมลพิษทางอากาศที่เพิ่มขึ้น มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้เข้ารับบริการแผนกผู้ป่วยนอกและจำนวนผู้เสียชีวิตของประเทศไทย ดังนั้น จึงควรมีข้อเสนอแนะการผลักดันนโยบายเพื่อลดแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศอย่างจริงจัง รวมทั้งสร้างความตระหนักถึงการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน เพื่อลดการเจ็บป่วย เสียชีวิตและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย
ดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
ฉบับ
บท
การอนุญาต
ลิขสิทธิ์ (c) 2021 วารสารการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.