การจัดการสุขภาพของชุมชนด้านส่งเสริมสุขภาพ และอนามัยสิ่งแวดล้อม

ผู้แต่ง

  • พิริยา วัฒนารุ่งกานต์ สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย
  • สุรัตน์ มงคลชัยอรัญญา สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย
  • ปรียานุช บูรณะภักดี สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย
  • ณัฐวดี แมนเมธี สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย

คำสำคัญ:

การจัดการสุขภาพของชุมชน, การจัดการค่ากลาง, การส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาผลที่เกิดจากกระบวนการจัดการสุขภาพของชุมชนด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมโดยใช้แนวคิดการจัดการค่ากลาง 2) ศึกษารูปแบบการจัดการสุขภาพของชุมชนด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม การศึกษาแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ระยะที่ 1 การศึกษาทบทวนข้อมูลทุติยภูมิ ระยะที่ 2 การพัฒนาแบบมีส่วนร่วม ระยะที่ 3 การนำสู่การปฏิบัติ ระยะที่ 4 การประเมินผลแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 จากแบบรายงานผลการดำเนินงานของศูนย์อนามัยที่ 1-12 ส่วนที่ 2 ถอดบทเรียนรูปแบบการจัดการสุขภาพของชุมชนโดยเลือกตำบลแบบเจาะจง มีเกณฑ์คือเป็นตำบลที่มีบริบทแตกต่างกัน จาก 4 ภาคๆ ละ 1 ตำบล ผลการศึกษา ระยะที่ 1 พบว่าประชาชนยังมีพฤติกรรมสุขภาพไม่พึงประสงค์ค่อนข้างสูงและบทบาทของเจ้าหน้าที่ รพ.สต.และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังขาดการบูรณาการกันและเน้นการให้บริการมากกว่าการพัฒนาศักยภาพของชุมชน ระยะที่ 2 ได้ค่ากลางความสำเร็จและรูปแบบการขับเคลื่อนการดำเนินการจัดการสุขภาพของชุมชน ระยะที่ 3 ดำเนินการในตำบลที่ศูนย์อนามัยที่ 1-12 เลือกแบบเจาะจงจากจังหวัดในเขตรับผิดชอบจังหวัดละ 1-2 ตำบล รวมทั้งสิ้น 147 ตำบล ระยะที่ 4 ประเมินผล พบว่า 1) เกิดการบูรณาการงานของหน่วยงานต่างๆ ในชุมชน เกิดแผนงาน/โครงการโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเครือข่ายตามกรอบกิจกรรมสำคัญของค่ากลาง ตลอดจนเกิดนวัตกรรมในชุมชน 3 ประเภท คือ นวัตกรรมกระบวนการ นวัตกรรมผลผลิตและนวัตกรรมรูปแบบ 2) ประชาชนเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมดีขึ้น และรูปแบบการจัดการสุขภาพของชุมชน มีองค์ประกอบที่ทำให้งานประสบความสำเร็จ คือ การพัฒนากลไกการมีส่วนร่วม การพัฒนาคน การพัฒนาความรู้ การพัฒนาต้นแบบหรือแหล่งเรียนรู้ในชุมชน การพัฒนาครอบครัวและชุมชน การพัฒนาอาชีพ และการจัดการสุขภาพในชุมชนด้วยกิจกรรมสำคัญของค่ากลาง ได้แก่ การเฝ้าระวังและคัดกรอง การใช้มาตรการทางสังคม การสื่อสารเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการปรับปรุงแผนงานโครงการ ซึ่งต้องทำไปด้วยกันจึงจะเกิดการขับเคลื่อนงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อเสนอแนะจากการศึกษาครั้งนี้ ควรสนับสนุนให้คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) นำรูปแบบการจัดการสุขภาพของชุมชนด้วยแนวคิดการจัดการค่ากลางไปใช้ในการพัฒนางานส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ และขยายรูปแบบไปสู่ตำบลอื่นๆ

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2022-03-08

ฉบับ

บท

Original Articles (บทวิทยาการ)