การพัฒนาคุณภาพน้ำเสียและน้ำทิ้งของสถานพยาบาลในประเทศไทย

ผู้แต่ง

  • ธนชีพ พีระธรณิศร์ สำนักคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กรมอนามัย
  • ศิราณี ศรีใส คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • วันนี มากันต์ ศูนย์ห้องปฏิบัติการกรมอนามัย
  • วาสนา คงสุข ศูนย์ห้องปฏิบัติการกรมอนามัย
  • สุภาวิตา สุวรรณศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

คำสำคัญ:

น้ำเสีย, น้ำทิ้ง, การฆ่าเชื้อ, SARS-CoV-2, คุณภาพน้ำเสีย

บทคัดย่อ

น้ำเสียจากโรงพยาบาล เป็นน้ำที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการบำบัดด้วยระบบบำบัดน้ำเสีย โดยน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดแล้วต้องมีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำทิ้ง ก่อนปล่อยสู่สาธารณะ หรือสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยมีน้ำเสียเกิดจากสถานพยาบาลให้บริการทั้งภาครัฐ และเอกชนมากกว่า 25,747 แห่ง โดยเฉพาะในสถานการณ์การระบาดของโรค Covid-19 ซึ่งเกิดจากเชื้อ SARS-CoV-2 จึงมีผลต่อสุขภาพของประชาชน ดังนั้นการวิจัยจึงมุ่งเน้นที่จะดูสถานการณ์และแนวโน้มของคุณภาพน้ำเสียและน้ำทิ้ง ศึกษาพัฒนากระบวนการเพิ่มประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อของระบบบำบัด ให้เกิดแนวทางใหม่ นำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายการบริหารจัดการน้ำเสีย น้ำทิ้ง ให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น ผลการศึกษา พบว่ามีตัวอย่างน้ำเสียและน้ำทิ้ง เฉลี่ย1,355 ตัวอย่าง/ปี ผ่านมาตรฐานน้ำทิ้ง เพียงร้อยละ 15.1-56.0 แนวโน้มคุณภาพลดลง พบค่าเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้สูงสุด 3 อันดับแรก คือ 1) ปริมาณของแข็งละลายทั้งหมด, 2) โคลิฟอร์มแบคทีเรีย, 3) ฟีคัลโคลิฟอร์มแบคทีเรีย เกินมาตรฐานเฉลี่ยร้อยละ 40, 31, และ 31 ตามลำดับ การบำบัดน้ำเสียยังมีผลดีต่อคุณภาพน้ำทิ้งอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทุกพารามิเตอร์ รวมถึงน้ำเสียและน้ำทิ้งที่ตรวจปนเปื้อนเชื้อ SARS-CoV-2 ด้วย ยังพบอีกว่าสัดส่วนของของเข็งละลายทั้งหมด คือ Total Dissolved Solid (TDS) บีโอดี ซีโอดี โคลิฟอร์มแบคทีเรีย และฟีคัลโคลิฟอร์มแบคทีเรีย แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (p-value<0.01) จำแนกประเภทน้ำและการปนเปื้อนเชื้อ SARS-CoV-2 มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญ (p-value = 0.023) ยังพบค่าความเสี่ยงระหว่างค่าพารามิเตอร์และการปนเปื้อนเชื้อ SARS-CoV-2 คือ บีโอดี และซีโอดี โดยน้ำเสีย/น้ำทิ้งที่มีค่าบีโอดี ที่ไม่ได้มาตรฐาน จะตรวจพบเชื้อ SARS-CoV-2 ประมาณ 2.956 เท่าเมื่อเทียบกับที่ได้มาตรฐาน และมีค่าซีโอดีที่ 2.881 เท่า น้ำเสียและน้ำทิ้งจึงอันตรายหากปล่อยสู่ธรรมชาติ สำหรับการทดสอบเปรียบเที่ยบประสิทธิภาพการทำลายเชื้อของคลอรีน กับเปอร์อะซิติก พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) เปอร์อะซิติกสามารถฆ่าเชื้อได้ดีกว่า ที่ระยะเวลาสัมผัส 30 นาที และยังพบว่ากรดเปอร์อะซิติกยังมี ผลทำให้ปริมาณของแข็งละลายได้ทั้งหมด ปริมาณไนโตรเจนทั้งหมด ซีโอดี และบีโอดี ในน้ำทิ้งลดลง คุณภาพน้ำหลังการใช้กรดเปอร์อะซิติกเป็นสารทำลายเชื้อดีกว่าการใช้คลอรีนได้อย่างชัดเจน การวิจัยมีข้อเสนอแนะ ในการจัดการน้ำเสียของสถานพยาบาล และการเฝ้าระวังเชื้อ SARS-CoV-2 ในน้ำเสียและน้ำทิ้งจากจึงมีข้อเสนอการบริหารจัดการทั้งระดับหน่วยงานและระดับประเทศ คือ 1) ควรมีการออกแบบระบบควบคุมคุณภาพน้ำ ประเภทต่างๆ ที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ให้เป็นระบบที่สามารถบูรณาการ และเชื่อมโยงให้เห็นภาพรวมของสถานการณ์คุณภาพน้ำของพื้นที่และประเทศไทยได้ โดยต้องร่วม กำหนดวัตถุประสงค์การใช้ข้อมูลคุณภาพน้ำ แนวทางการออกแบบระบบควบคุมคุณภาพน้ำ และการจัดการใช้ประโยชน์ข้อมูลคุณภาพน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้การดำเนินงานต้องครอบคลุมบทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน 2) กรมอนามัย ควรมีการออกแบบระบบบริการและควบคุมคุณภาพตัวอย่างน้ำที่ทำการวิเคราะห์ ตั้งแต่การออกแบบและนำเข้าระบบข้อมูลตัวอย่างน้ำ การควบคุมคุณภาพทางห้องปฏิบัติการ การรายงานผลการตรวจวิเคราะห์ และการประมวลผลข้อมูลเพื่อสอดรับกับระบบควบคุมคุณภาพน้ำที่ภาคส่วนต่างๆ ออกแบบไว้ 3) ควรมีการดำเนินงานทวนสอบ ระบบควบคุมคุณภาพน้ำ และติดตามตรวจสอบประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการ โดยจัดทำเป็นฐานข้อมูล ที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ 4) ศึกษา และพัฒนาการใช้เปอร์อะซิติก แทนคลอรีนที่ยังมีสารตกค้างอันตราย และสนับสนุนให้เป็นมาตรการหลักของการฆ่าเชื้อจุรินทรีย์ในอนาคต 5) สร้างและพัฒนา Test kit จากการวัดน้ำเสียน้ำทิ้งที่สามารถบ่งชี้คุณภาพและปริมาณจุรินทรีย์จากค่า BOD และ COD ที่เป็นตัวบ่งชี้จากผลการวิจัยนี้

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2022-06-29

ฉบับ

บท

Original Articles (บทวิทยาการ)