บทเรียนจากการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายระดับประเทศ “เด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลก”

ผู้แต่ง

  • ปทุมรัตน์ สามารถ กองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย
  • ทับทิม ศรีวิไล กองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย
  • วัชรินทร์ แสงสัมฤทธิ์ผล กองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย
  • ธวัชชัย ทองบ่อ กองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย
  • เศวต เซี่ยงลี่ กองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย
  • ฐิติกร โตโพธิ์ไทย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข

คำสำคัญ:

การเล่น, นโยบาย, ปฐมวัย, การพัฒนา, การขับเคลื่อน, ประเทศไทย

บทคัดย่อ

สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้มนุษย์ต้องมีการปรับตัวและพัฒนาทักษะพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและแก้ไขปัญหาที่ไม่อาจคาดเดาได้ในอนาคต การพัฒนาศักยภาพมนุษย์ควรเริ่มตั้งแต่เด็กปฐมวัย (0-6 ปี) เนื่องจากสมองมีการสร้างเซลล์สมองและเส้นใยประสาทในจำนวนที่มากและรวดเร็วที่สุด โดยเฉพาะการเล่น ในปีงบประมาณ 2563 กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้ประกาศนโยบาย “เด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลก” เพื่อให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยผ่านการเล่น ด้วยหลักการ 3F คือ 1) ครอบครัว (family) 2) อิสระ (free) และ 3) สนุก (fun) ผ่านการบริหารจัดการ 4 องค์ประกอบ (4P) คือ 1) พื้นที่เล่น (play space) 2) กระบวนการเล่น (play process) 3) ผู้อำนวยการเล่น (play worker) และ 4) หน่วยบริหารจัดการการเล่น (play management unit) บทความนี้ศึกษากระบวนการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายเด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลกสู่ระดับพื้นที่ การพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายเล่นเปลี่ยนโลก มีกระบวนการสำคัญ คือ การพัฒนาองค์ความรู้ การพัฒนานโยบายที่ชัดเจน ความมุ่งมั่นจากภาครัฐ ความร่วมมือจากภาคประชาสังคม ผนวกรวมกับความต้องการของสังคม แม้จะดำเนินการได้ตามเป้าหมาย นโยบายเล่นเปลี่ยนโลกยังต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อขยายผลให้ครอบคลุมในพื้นที่ เพิ่มคุณภาพ มีความต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเด็กปฐมวัยอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการบูรณาการการเล่นในแผนการเรียนการสอน 6 กิจกรรมของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย และการพัฒนาทักษะผู้อำนวยการเล่น ทั้งในครูผู้ดูแลเด็ก พ่อแม่ ผู้ปกครอง เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ทั้งนี้ ควรมีการทบทวนการดำเนินนโยบายเด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลกอย่างสม่ำเสมอ ตามสถานการณ์ บริบท และวิชาการของประเทศและของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

ไฟล์เพิ่มเติม

เผยแพร่แล้ว

2022-06-29

ฉบับ

บท

Review Article (บทความปริทัศน์)