ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับเด็กปฐมวัยคุณภาพ เขตสุขภาพที่ 7

ผู้แต่ง

  • สุพัตรา บุญเจียม ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น
  • ธิโสภิญ ทองไทย ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น กรมอนามัย
  • พีรญา มายูร ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น กรมอนามัย
  • ปิยะ ปุริโส ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น กรมอนามัย

คำสำคัญ:

เด็กปฐมวัยคุณภาพ, พฤติกรรมการเลี้ยงดูเด็ก, คุณภาพชีวิต

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงวิเคราะห์แบบภาคตัดขวางนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินสถานการณ์เด็กปฐมวัยคุณภาพ พฤติกรรมการเลี้ยงดูเด็ก คุณภาพชีวิตของผู้เลี้ยงดูเด็ก เขตสุขภาพที่ 7 และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างคุณลักษณะส่วนบุคคลของผู้เลี้ยงดู คุณลักษณะส่วนบุคคลของเด็ก พฤติกรรมการเลี้ยงดูเด็ก และคุณภาพชีวิตของผู้เลี้ยงดูเด็กกับเด็กปฐมวัยคุณภาพ เขตสุขภาพที่ 7 ด้วยการสัมภาษณ์ผู้เลี้ยงดู จำนวน 800 คน ใช้เครื่องมือแบบประเมินคุณภาพชีวิต พฤติกรรมการเลี้ยงดูเด็กของผู้เลี้ยงดู ชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูง ตรวจสุขภาพช่องปากของเด็ก และตรวจพัฒนาการเด็กด้วยเครื่องมือ Denver II จำนวน 800 คน วิเคราะห์ข้อมูลด้วย การแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติการถดถอยโลจิสติกเชิงพหุ (Multiple Logistic Regression) ผลการวิจัยพบว่า เด็กปฐมวัยเป็นเด็กปฐมวัยคุณภาพ (พัฒนาการสมวัย สูงดีสมส่วน และฟันไม่ผุ) ร้อยละ 25.8 พฤติกรรมการเลี้ยงดูเด็กของผู้เลี้ยงดู อยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 50.4 คุณภาพชีวิตของผู้เลี้ยงดู อยู่ในระดับดี ร้อยละ 77.1 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับเด็กปฐมวัยคุณภาพ เขตสุขภาพที่ 7 มี 4 ปัจจัยคือ 1) ช่วงอายุของเด็ก (AOR = 5.5; 95%CI: 3.71 to 8.27; p-value<0.001) 2) การคลอดก่อนกำหนด (AOR = 1.9; 95%CI: 1.30 to 4.18; p-value 0.032) 3) ภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ (AOR = 1.4; 95%CI: 1.18 to 2.09; p-value 0.046) และ 4) การใช้สื่ออิเล็กโทรนิกส์ของเด็ก (AOR = 1.4; 95%CI: 1.26 to 1.96; p-value 0.012) ดังนั้นเพื่อส่งเสริมให้เด็กเป็นเด็กปฐมวัยคุณภาพต้องสร้างมาตรการให้หญิงตั้งครรภ์ฝากครรภ์ก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ (Early ANC) และฝากครรภ์ตามนัด เพื่อได้รับยาบำรุงครรภ์ ได้รับการเฝ้าระวังและรักษาภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ สร้างมาตรการในการป้องกันการคลอดก่อนกำหนดในปัจจัยที่ป้องกันได้ และส่งเสริมการคลอดบุตรเป็นไปตามอายุครรภ์ที่ครบกำหนด เน้นสร้างความตระหนักถึงผลเสียของการใช้สื่ออิเล็กโทรนิกส์กับเด็ก หากใช้ให้จำกัดเวลาและดูแลให้เหมาะสมกับวัย การเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการ การเจริญเติบโต และสุขภาพช่องปากตามช่วงวัยของเด็กอย่างต่อเนื่อง

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2022-09-28

ฉบับ

บท

Original Articles (บทวิทยาการ)