การรับสัมผัสสารเคมีทางการเกษตร สารมลพิษทางอากาศ และปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศ ของหญิงตั้งครรภ์ในพื้นที่จังหวัดลำปางและตาก และความสัมพันธ์กับภาวะทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย

ผู้แต่ง

  • สุกานดา พัดพาดี ศูนย์อนามัยที่ 4 สระบุรี กรมอนามัย
  • พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • พนิตา เจริญสุข กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย
  • วาสนา ลุนสำโรง กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย
  • เอกรินทร์ วินันท์ ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ กรมอนามัย

คำสำคัญ:

ภาวะทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย, สารมลพิษทางอากาศ, สารเคมีทางการเกษตร, ปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศ

บทคัดย่อ

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินค่าการรับสัมผัสสารเคมีทางการเกษตร สารมลพิษทางอากาศ และค่าทางสภาพภูมิอากาศตลอดระยะเวลาตั้งครรภ์ของหญิงตั้งครรภ์ และวิเคราะห์หาความความสัมพันธ์กับภาวะทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย รูปแบบการศึกษาคือ case-control study กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยมารดาที่คลอดบุตรที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม (กลุ่มศึกษา) จำนวน 235 คน และมารดาที่คลอดบุตรที่มีน้ำหนักมากกว่าหรือเท่ากับ 2,500 กรัม (กลุ่มควบคุม) จำนวน 263 คน ในจังหวัดลำปางและตาก ทำการประเมินการรับสัมผัสสารเคมีทางการเกษตรด้วยโปรแกรม AgDRIFT® และประเมินการรับสัมผัสสารมลพิษทางอากาศและค่าทางอุตุนิยมวิทยาเป็นรายบุคคล โดยคำนวณเป็นค่าเฉลี่ยของการรับสัมผัสตลอดระยะเวลาการตั้งครรภ์ต่อวันต่อน้ำหนักเฉลี่ยของร่างกาย เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วย แบบสอบถาม และโปรแกรม AgDRIFT® 2.1.1 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ chi-square test/ Fisher’s exact test, t-test และ binary logistic regression ผลการศึกษาพบว่า ค่าเฉลี่ยของปริมาณสารเคมีทางการเกษตรที่ได้รับของกลุ่มศึกษาและกลุ่มควบคุมไม่แตกต่างกัน และพบว่าปริมาณการรับสัมผัสสารมลพิษทางอากาศและค่าทางอุตุนิยมวิทยา ที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย เมื่อการวิเคราะห์ forward stepwise log likelihood ratio เพื่อทำนายโอกาสของการเกิดภาวะทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยในจังหวัดลำปาง พบตัวแปรที่มีความสัมพันธ์กับภาวะทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย ได้แก่ อายุครรภ์มารดา (Odds ratio (OR) = 0.813, 95% confidence interval (CI): 0.729, 0.905) การเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด OR = 6.682, 95% CI: 2.379, 18.771) และขนาดการรับสัมผัสเฉลี่ยตลอดการตั้งครรภ์ต่อความชื้นสัมพัทธ์ (percent/day-kg) (OR = 3.893, 95% CI: 1.156, 13.111) ส่วนในจังหวัดตาก พบตัวแปรที่มีความสัมพันธ์กับภาวะทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย ได้แก่ อายุครรภ์ของมารดา (OR = 0.705, 95%CI: 0.614, 0.810) การเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด (OR = 2.408, 95% CI: 1.101, 5.268) การรับประทานยาเสริมธาตุเหล็กไม่ครบทุกวัน (OR = 2.120, 95% CI: 1.183, 3.800) และขนาดการรับสัมผัสเฉลี่ยตลอดการตั้งครรภ์ต่ออุณหภูมิสูงสุด (celsius/day-kg) (OR = 29.785, 95% CI: 1.986, 446.674) จึงมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานสาธารณสุข ควรนำผลที่ได้จากการศึกษานี้ไปหาแนวทางและมาตรการในการลดอุบัติการณ์ของภาวะทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย หรือทำการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2022-08-31

ฉบับ

บท

Original Articles (บทวิทยาการ)