การนำนโยบายควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนสู่การปฏิบัติ และการรับรู้โอกาสเสี่ยงกับการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนของหญิงตั้งครรภ์ ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่

ผู้แต่ง

  • สิริรำไพ ภูธรใจ ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ กรมอนามัย
  • โสพิณ หมอกมาเมิน ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม
  • สิริภา ภาคนะภา ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม
  • ทิพวรรณ บุญกองรัตน์ ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม
  • กฤษณะ จตุรงค์รัศมี ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม

คำสำคัญ:

นโยบายควบคุมป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน, การรับรู้โอกาสเสี่ยงและการปฏิบัติตน, หญิงตั้งครรภ์

บทคัดย่อ

โรคขาดสารไอโอดีนส่งผลกระทบโดยตรงต่อหญิงตั้งครรภ์ หากขาดสารไอโอดีนลูกที่คลอดออกมามีโอกาสเสี่ยงที่จะมีความพิการหรือปัญญาอ่อนได้ การให้หญิงตั้งครรภ์ได้รับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคขาดสารไอโอดีนและมีการปฏิบัติตนที่ถูกต้อง จึงมีความสำคัญยิ่งต่อการแก้ปัญหาโรคขาดสารไอโอดีน การวิจัยนี้ใช้รูปแบบผสมผสาน วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการนำนโยบายควบคุมและแก้ไขปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนลงสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ ศึกษาการรับรู้โอกาสเสี่ยง การปฏิบัติตนและความสัมพันธ์ของการรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคและการปฏิบัติตน รวมทั้งศึกษาผลของการให้ความรู้ในการป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน แก่หญิงตั้งครรภ์ที่มาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เก็บข้อมูลระหว่างเดือนสิงหาคม-ธันวาคม 2564 ระยะที่ 1 เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ผู้ให้ข้อมูลเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการนำนโยบายลงสู่การปฏิบัติของตำบลม่อนปิ่น จำนวน 25 คน เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกใช้เวลา 5 วัน ในเดือนสิงหาคม 2564 ด้วยแบบสัมภาษณ์ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ผลการวิเคราะห์เนื้อหาพบว่า ในปี 2561 องค์การบริหารส่วนตำบลม่อนปิ่นได้บรรจุโครงการควบคุมโรคขาดสารไอดีนไว้ในแผนพัฒนาท้องถิ่น 4 ปี ในปี 2562 ได้สนับสนุนงบประมาณดำเนินงานแก่หมู่บ้านจำนวน 1 แห่ง และในปี 2563-2564 ไม่พบการสนับสนุนงบประมาณ แต่พบมีการขับเคลื่อนนโยบายของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอฝาง กำหนดให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่ง เฝ้าระวังโรคขาดสารไอโอดีนโดยการสุ่มตรวจเกลือบริโภคในครัวเรือน ร้านอาหาร ร้านค้า โรงเรียน และให้ยาเม็ดเสริมไอโอดีนแก่หญิงตั้งครรภ์ที่มาฝากครรภ์ครั้งแรกทุกคน ระยะที่ 2 เป็นการวิจัยเชิงปริมาณและกึ่งทดลองแบบกลุ่มเดียววัดก่อนและหลังการให้ความรู้ 12 สัปดาห์ กลุ่มตัวอย่างเป็นหญิงตั้งครรภ์ที่มาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจำนวน 63 คน ระหว่างเดือนกันยายนถึงธันวาคม 2564 เครื่องมือได้แก่แผนการสอนและคลิปเสียงให้ความรู้ เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์ตามแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นและผ่านการตรวจสอบความตรงและความเที่ยงมีค่าสัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาค (Cronbach alpha coefficient)เท่ากับ 0.98 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา สถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบสเปียร์แมน และสถิตินอนพาราเมตริก พบว่าในภาพรวมความสัมพันธ์ของการรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคกับการปฏิบัติตนในการป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนของหญิงตั้งครรภ์ก่อนการให้ความรู้ อยู่ในระดับปานกลาง (rs= .471) ภายหลังการให้ความรู้หญิงตั้งครรภ์รับรู้โอกาสเสี่ยงและการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน มีปริมาณไอโอดีนในปัสสาวะ รวมถึงเลือกใช้เกลือบริโภคที่มีปริมาณไอโอดีน สูงกว่าก่อนให้ความรู้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ผลการวิจัยครั้งนี้ทำให้ทราบถึงปัญหาการนำนโยบายลงสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ ยังขาดการส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ส่งผลให้หญิงตั้งครรภ์รับรู้โอกาสเสี่ยงและการปฏิบัติตนที่ถูกต้องในระดับน้อย รับรู้เฉพาะความรู้ที่ได้จากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในคลินิกฝากครรภ์ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และสื่อคลิปเสียงตามสายภาษาท้องถิ่นจากหอกระจายข่าวของหมู่บ้านทุกแห่ง ที่ผู้วิจัยจัดทำขึ้นเท่านั้น ข้อเสนอแนะ 1.องค์การบริหารส่วนตำบลในระดับพื้นที่ ต้องให้ความสำคัญต่อการนำนโยบายป้องกันและควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนลงสู่การปฏิบัติอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างจริงจัง 2. ควรส่งเสริมหญิงตั้งครรภ์ได้รับสารไอโอดีนอย่างเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยให้ความรู้ผ่านสื่อภาษาท้องถิ่นผ่านช่องทางที่เข้าถึงง่าย เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ มีการรับรู้ที่ถูกต้อง ส่งผลให้สามารถปฏิบัติตนในการป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนได้

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2022-09-28

ฉบับ

บท

Original Articles (บทวิทยาการ)