ประสิทธิภาพการเสริมวิตามินธาตุเหล็กและกรดโฟลิก ในหญิงวัยเจริญพันธุ์ โครงการสาวไทยแก้มแดง : กรณีศึกษาสถานประกอบการ 6 แห่ง

ผู้แต่ง

  • สุนิสา ศุภเลิศมงคลชัย สำนักโภชนาการ กรมอนามัย
  • สายพิณ โชติวิเชียร สำนักโภชนาการ กรมอนามัย
  • กรุณี ขวัญบุญจัน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
  • อาพันธ์ชนิด เทพอวยพร คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
  • ณัชณิชา พรหมยศ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

คำสำคัญ:

ความพิการแต่กำเนิด, โฟเลต, ภาวะโภชนาการ, ภาวะโลหิตจาง

บทคัดย่อ

องค์การอนามัยโลกผลักดันให้ประเทศสมาชิกมีนโยบายป้องกันภาวะโลหิตจางและการป้องกันความพิการแต่กำเนิดโดยมีคำแนะนำให้วิตามินธาตุเหล็ก 60 มิลลิกรัม และกรดโฟลิก 2.8 มิลลิกรัม สัปดาห์ละ 1 ครั้งแก่หญิงวัยเจริญพันธุ์ในประเทศที่มีความชุกโลหิตจางมากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 20 สำหรับประเทศไทยได้มีนโยบายดังกล่าว ดังนั้นจึงได้ทำการศึกษาประสิทธิภาพการเสริมวิตามินธาตุเหล็กและกรดโฟลิกสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ในหญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาวะโภชนาการระดับโฟเลตและภาวะโลหิตจางในหญิงวัยเจริญพันธุ์อายุ15-49ปี โดยทำการศึกษาในหญิงวัยเจริญพันธุ์อายุ15-49ปีในสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการสาวไทยแก้มแดง จำนวน 229 คน ได้ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง และเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจวิเคราะห์ RBC folate, Serum folate, CBC ในสัปดาห์ที่เริ่มต้น และสัปดาห์ที่12 โดยหญิงวัยเจริญพันธุ์กินวิตามินเสริมธาตุเหล็กและกรดโฟลิก โดย ยา 1 เม็ดมีธาตุเหล็ก 60 มิลลิกรัม และกรดโฟลิก 2.8 มิลลิกรัม กินสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ต่อเนื่องจนครบ 12 สัปดาห์ วิเคราะห์ทางสถิติใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS Version 20 และใช้ Paired-t-test statistic ผลการศึกษาหญิงวัยเจริญพันธุ์มีอายุเฉลี่ย33.57 ปี น้ำหนักเฉลี่ย 57.87กิโลกรัม ส่วนสูงเฉลี่ย 157.91 เซนติเมตร ดัชนีมวลกายเฉลี่ย 23.18 กิโลกรัมต่อเมตร2 ภาวะโภชนาการตามระดับ BMI (kg/m2) น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ร้อยละ 6.9 น้ำหนักสมส่วน ร้อยละ 52.4 น้ำหนักเกินร้อยละ 12.3 อ้วนร้อยละ 28.4 ความชุกโลหิตจางในกลุ่มก่อนกินวิตามินร้อยละ 21.8และกลุ่มหลังกินวิตามินร้อยละ24.0 สำหรับภาวะขาดโฟเลต ในกลุ่มหลังกินวิตามินมีค่าเฉลี่ยโฟเลตในซีรัมคือ18.01±5.06 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร สูงกว่ากลุ่มก่อนกินวิตามินซึ่งมีค่าเฉลี่ยโฟเลตในซีรัม คือ 9.85±4.48นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติค่าโฟเลตในเม็ดเลือดแดงในกลุ่มหลังกินวิตามิน คือ 892.45±484.35นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร ซึ่งมีปริมาณโฟเลตเพียงพอในการป้องกันภาวะหลอดประสาทไม่ปิด ( Neural Tube Defect) คือ มากกว่า 400 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตรหรือ มากกว่า 906 นาโนโมลต่อลิตร และสูงกว่ากลุ่มก่อนกินวิตามินซึ่งมีค่าเฉลี่ยโฟเลตในเม็ดเลือดแดงคือ474.94±443.16 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2022-09-28

ฉบับ

บท

Original Articles (บทวิทยาการ)