สถานการณ์และผลลัพธ์ของการดำเนินงานพัฒนาสุขภาพ ของพนักงานในสถานประกอบการ โดยการมีส่วนร่วมของพนักงานและการสนับสนุนของเจ้าของสถานประกอบการ

ผู้แต่ง

  • อัญชลินทร์ ปานศิริ สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย
  • วิชชุพร เกตุไหม สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย

คำสำคัญ:

การพัฒนาสุขภาพ, การมีส่วนร่วมของพนักงาน, การสนับสนุนของเจ้าของสถานประกอบการ

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินสถานการณ์การดำเนินงานพัฒนาสุขภาพ ตามแนวทาง 10 แพคเกจ 2) ศึกษาผลลัพธ์ของการพัฒนาสุขภาพของพนักงานในสถานประกอบการ และ 3) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคลกับการพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ ทำการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นพนักงานสถานประกอบการ ที่มีการพัฒนาสุขภาพของพนักงานตามแนวทาง 10 แพคเกจ ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จำนวนกลุ่มตัวอย่าง 425 คน ผลการศึกษาพบว่า 1) สถานประกอบการมีการประกาศนโยบายส่งเสริมองค์กรสุขภาวะในรูปแบบของการสื่อสารนโยบาย จะเริ่มจากนโยบายของผู้บริหารลงมาสู่ผู้ปฏิบัติ โดยเน้นในเรื่องของความปลอดภัยจากการทำงานเป็นเรื่องสำคัญ มีการปรับเปลี่ยนกลไกกระบวนการดำเนินงานพัฒนาสุขภาพของสถานประกอบการ โดยมีการกำหนดนโยบาย กำหนดปัญหาบนพื้นฐานของข้อมูล กำหนดรูปแบบการจัดกิจกรรมที่ตรงกับความต้องการและความสมัครใจของพนักงาน และการประเมินผลการพัฒนาสุขภาพ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากผู้บริหาร/เจ้าของสถานประกอบการ ผลการประเมินสถานการณ์พบว่า พนักงานเข้าร่วมการดำเนินงานพัฒนาสุขภาพและมีความต้องการในการแก้ไขและป้องกันปัญหาทางด้านสุขภาพ 2) ผลลัพธ์ของการพัฒนาสุขภาพของพนักงานในสถานประกอบการ พบปัญหาว่า พนักงานส่วนใหญ่มีการเติมเครื่องปรุงลงในอาหารสำเร็จรูปทุกครั้ง ดื่มเครื่องดื่มรสหวานทุกวัน กินอาหารที่มีไขมันสูง ไม่ออกกำลังกาย ไม่เคยไปพบทันตแพทย์เพื่อดูแลรักษาฟัน ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นานๆ ครั้ง 3) ด้านสุขภาพกาย พฤติกรรมสุขภาพ 3อ.2ส. 1ฟ.1น. มีความสัมพันธ์กับเพศ อายุ การศึกษา สถานภาพสมรส การมีบุตร และตำแหน่งงานในการปฏิบัติงาน ร้อยละ 14.0-69.0 ด้านภาวะสุขภาพ มีความสัมพันธ์กับเพศ อายุ การศึกษา สถานภาพสมรส และการมีบุตร ร้อยละ 35.0-68.0 ด้านสุขภาพจิตและจิตวิญญาณ มีความสัมพันธ์กับเพศ อายุ การศึกษา สถานภาพสมรส และตำแหน่งในการปฏิบัติงาน ร้อยละ 20.0-24.3 และด้านสุขภาพสังคม มีความสัมพันธ์กับอายุ ร้อยละ 23.0 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 และ 0.05 ข้อเสนอแนะ ควรมีนโยบายและดำเนินงาน 10 แพคเกจอย่างต่อเนื่อง พัฒนาต่อยอดที่จะนำไปสู่การสร้างความรอบรู้ ยกระดับการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมและเป็นรูปธรรม และการพัฒนาศักยภาพเพื่อการสร้างเสริมหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของคนทำงานและภาคีเครือข่าย โดยมีปัจจัยหนุนเสริมความสำเร็จที่สำคัญ คือ ผู้บริหาร แกนนำสุขภาพ ภาคีเครือข่าย และองค์ความรู้ที่จำเป็นในการดำเนินงาน มีกระบวนการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งยั่งยืน

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2023-01-17

ฉบับ

บท

Original Articles (บทวิทยาการ)