ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับอาการรุนแรงในผู้ป่วยติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 (โควิด 19) ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลบางจาก จังหวัดสมุทรปราการ

ผู้แต่ง

  • พันธิพา พันธนู โรงพยาบาลบางจาก จังหวัดสมุทรปราการ

คำสำคัญ:

โควิด-19, อาการแสดง, โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019, ความรุนแรงของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

บทคัดย่อ

เชื้อไวรัสอุบัติใหม่โคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ระบาดทั่วโลกอย่างรวดเร็ว รวมถึงในประเทศไทย องค์การอนามัยโลก กำหนดชื่อสำหรับเรียกโรคทางเดินหายใจที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ Coronavirus disease 2019 หรือ COVID – 19 การศึกษานี้เป็นการศึกษาข้อมูลย้อนหลัง จากเวชระเบียนและฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับอาการรุนแรงในผู้ป่วยติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 ( โควิด – 19 ) ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลบางจาก จังหวัดสมุทรปราการ ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2563 ถึง 1 มิถุนายน 2564 ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงทั้งสิ้น 147 ราย วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้สถิติ เชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ และ Chi – square test ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงทั้งหมด 147ราย โดยจำแนกเป็น เพศหญิง ร้อยละ 58.5 เพศชายร้อยละ 41.5 ผู้ป่วยยังไม่ได้รับวัคซีน ร้อยละ 100 กลุ่มอายุที่ติดเชื้อและมีอาการรุนแรง มีอายุมากกว่า 50 ปี ร้อยละ 54.4 โรคประจำตัวที่พบมากในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง 3 ลำดับแรกคือ ความดันโลหิตสูง ร้อยละ 34.01ไขมันในเลือดสูง ร้อยละ 30.61 ลำดับที่ 3 คือ เบาหวาน ร้อยละ 22.44 อาการแสดงที่พบได้บ่อย 3 ลำดับแรก คือ เหนื่อยร้อยละ 87.75 ลำดับต่อมา คือ ไข้ ร้อยละ 79.59 และอาการเจ็บคอ ร้อยละ 61.22 อาการของโรค ที่พบได้บ่อย 3 ลำดับแรก คือ ไอ ร้อยละ 84.35 ไข้ ร้อยละ 79.59 เจ็บคอ ร้อยละ 63.94 ตามลำดับ ระยะเวลาเฉลี่ยที่ผู้ป่วยพักรักษาตัวในโรงพยาบาล คือ 15.23 วัน ผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัย ในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นปอดอักเสบ (กลุ่มอาการรุนแรง) พบว่า อายุ สถานภาพ โรคประจำตัว อาชีพ มีความสัมพันธ์ การติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 และมีอาการรุนแรง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value <0.05) กลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุ 50-64 ปีและ 65ปีขึ้นไปมีสัดส่วนของการเกิดอาการ Severe Pneumonia สูง ผู้ป่วยที่มีสถานภาพสมรสมีสัดส่วนของการเกิดอาการ Severe Pneumonia สูงกว่าคนโสด ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวมีสัดส่วนของการเกิดอาการ Severe Pneumonia สูงกว่าผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัว ผู้ป่วยอาชีพข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจมีสัดส่วนการเกิดอาการรุนแรงฯ สูงที่สุดรองรองมา ได้แก่อาชีพรับจ้าง แม่บ้าน ค้าขาย นักเรียน/นักศึกษา ตามลำดับ ผลการศึกษานี้เสนอให้มีการออกแบบคัดกรอง ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับอาการรุนแรงในผู้ป่วยติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019(โควิด19) เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยต่อไป

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2023-01-17

ฉบับ

บท

Original Articles (บทวิทยาการ)