การพัฒนาอำเภอต้นแบบสุขภาพดี เขตสุขภาพที่ 4 แบบมีส่วนร่วม ปี 2563

ผู้แต่ง

  • กาญจนา คงศักดิ์ตระกูล สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 จังหวัดสระบุรี
  • เพชรา ชวนะพันธุ์ ศูนย์อนามัยที่ 4 สระบุรี
  • คัทลิยา พลอยวงษ์ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 จังหวัดสระบุรี
  • ประจวบ แสงดาว ศูนย์อนามัยที่ 4 สระบุรี

คำสำคัญ:

พัฒนารูปแบบ, มีส่วนร่วม, อำเภอต้นแบบสุขภาพดี

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาอำเภอในพื้นที่เขตสุขภาพที่4 ให้เป็นพื้นที่อำเภอต้นแบบสุขภาพดีด้วยกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม โดยใช้ชุมชนเป็นฐานในการแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชนผ่านกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ในพื้นที่ 8 จังหวัด ๆ ละ 1 อำเภอ ด้วยวิธีการพัฒนาศักยภาพผู้นำด้านสุขภาพจากหน่วยงานและชุมชน ประชากรและกลุ่มตัวอย่างเลือกแบบเจาะจงจำนวน 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1) กลุ่มผู้สนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบาย 2) กลุ่มผู้นำด้านสุขภาพ และ3) ประชาชนในพื้นที่ กระบวนการวิจัยมี 3 ขั้นตอน คือ ขั้นเตรียมการ ขั้นลงมือปฏิบัติ และขั้นประเมินผล เก็บรวบรวมข้อมูลจากแบบสัมภาษณ์ สนทนากลุ่ม และแบบสอบถามความรอบรู้ด้านสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพ 3อ.2ส. กลุ่มประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป ฉบับปรับปรุง ปี พ.ศ.2561 ของกองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เชิงเนื้อหา ข้อมูลเชิงปริมาณวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ผลการศึกษาพบว่า กระบวนการพัฒนาอำเภอต้นแบบสุขภาพดีแบบมีส่วนร่วมโดย 1) พัฒนาศักยภาพกลุ่มผู้นำด้านสุขภาพด้วยวิธีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสื่อสาร และการฝึกทักษะการดำเนินงาน 5 ขั้นตอน ได้แก่ 1.ขั้นวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 2.ขั้นทำความเข้าใจกับปัญหา/การตัดสินใจ/กำหนดข้อตกลงร่วมกัน 3.ขั้นวางแผน กำหนดกิจกรรมชุมชนแบบมีส่วนร่วม 4.ขั้นการดำเนินงานตามกิจกรรม และ 5.ขั้นติดตามผล 2) จากการประเมินผลพบกลุ่มตัวอย่างมีความรอบรู้สุขภาพตามหลัก 3อ.2ส. และมีการปฏิบัติพฤติกรรมสุขภาพ ผ่านเกณฑ์ กลุ่มตัวอย่างที่มีค่าน้ำหนักเกินและมีค่าดัชนีมวลกาย(BMI) เกิน มีค่าน้ำหนักตัวลดลงผ่านเกณฑ์ ซึ่งชี้ถึงแนวโน้มสุขภาพดีจากพฤติกรรมสุขภาพของตนเอง ข้อเสนอแนะจากการศึกษา กลยุทธ์สำคัญในการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบควรเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและสร้างกลไกการทำงานผ่านผู้นำด้านสุขภาพขององค์กรในชุมชน สื่อสารกับประชากรกลุ่มเสี่ยงผ่านกระบวนการความรอบรู้ด้านสุขภาพ สร้างค่านิยมร่วมและกติกาเพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพจนเกิดเป็นวัฒนธรรมการจัดการลดเสี่ยง

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2023-01-17

ฉบับ

บท

Original Articles (บทวิทยาการ)