การพัฒนารูปแบบของกลไกการดูแลและช่วยเหลือวัยรุ่นตั้งครรภ์ จังหวัดสระบุรี: การวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม

ผู้แต่ง

  • ปติมา หิริสัจจะ สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย

คำสำคัญ:

การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น, กลไกดูแลช่วยเหลือวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์, พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหา การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนากลไกดูแล ช่วยเหลือวัยรุ่นของจังหวัดสระบุรี ให้ได้รับสิทธิตามพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 โดยศึกษา ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - กันยายน 2565 แบ่งการศึกษาเป็น 4 ระยะ คือ 1) ศึกษาข้อมูลเบื้องต้น 2) พัฒนากลไกดูแล ช่วยเหลือวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์แบบมีส่วนร่วม กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินงานในกระทรวงที่รักษาการตามพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ยกเว้น ผู้แทนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งยังไม่ได้มีผู้แทนเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นจังหวัดสระบุรี โดยใช้เครื่องมือเป็นแบบสัมภาษณ์เชิงลึกและสนทนากลุ่มมาช่วยในการพัฒนากลไก 3) การนำกลไกดูแล ช่วยเหลือไปใช้ 4) ประเมินผลและปรับปรุงกลไกดูแล ช่วยเหลือวัยรุ่นตั้งครรภ์ให้สมบูรณ์ แล้วนำกลับไปทดลองใช้ซ้ำ โดยใช้แบบสรุปรายงานการให้บริการวัยรุ่นตั้งครรภ์ สำหรับสถานบริการสาธารณสุข และบ้านพักเด็กและครอบครัว วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ด้วยการหาความถี่ และร้อยละ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ด้วยการจำแนกข้อมูลและหาข้อสรุป พบว่า กลไกดูแล ช่วยเหลือวัยรุ่นตั้งครรภ์ จ.สระบุรี ประกอบด้วย 5 ช่องทาง คือ สายด่วน 1330 บ้านพักเด็กและครอบครัว โรงเรียน/สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สถานบริการสาธารณสุข และสายด่วน 1663 สามารถให้การดูแล ช่วยเหลือ และส่งต่อวัยรุ่นตั้งครรภ์ได้ตามบทบาทภารกิจของหน่วยงาน เพราะมีการทำงานร่วมกันระหว่างภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง สิ่งที่ต้องพัฒนาต่อคือ การบูรณาการด้านข้อมูลการดูแล ช่วยเหลือที่ถูกจัดเก็บไว้ในแต่ละหน่วยงาน โดยมิได้มีการเชื่อมโยงกัน ทำให้ขาดข้อมูลภาพรวมของจังหวัด ยากต่อการตัดสินใจเชิงนโยบาย อุปสรรคของการให้บริการอนามัยการเจริญพันธุ์ คือ ความกังวลใจในการให้บริการ หากไม่มีการเซ็นยินยอมจากผู้ปกครอง ทำให้วัยรุ่นไม่สามารถตัดสินใจรับบริการได้ตามสิทธิ จึงมีข้อเสนอแนะคือ การนำกลไกดูแล ช่วยเหลือวัยรุ่นตั้งครรภ์ไปใช้ ควรทำควบคู่ไปกับการสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดความกังวลใจในการให้บริการ วัยรุ่นก็จะสามารถได้รับสิทธิตาม พ.ร.บ.มากขึ้น และควรทำงานด้านการป้องกันอย่างเข้มข้น เพื่อตัดวงจรการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม ที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับเด็กที่เกิดมาด้วย

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2023-02-22