การศึกษาสถานการณ์พัฒนาการเด็กปฐมวัยไทย ปี 2564

ผู้แต่ง

  • ประภาภรณ์ จังพานิช สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย
  • วสุรัตน์ พลอยล้วน สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย

คำสำคัญ:

เด็กปฐมวัย, พัฒนาการสมวัย, ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพัฒนาการเด็กปฐมวัย

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาสถานการณ์พัฒนาการเด็กปฐมวัย ปี 2564 เปรียบเทียบพัฒนาการเด็กปฐมวัย กับปี 2560 ในระดับเขตและระดับประเทศ พฤติกรรมการเลี้ยงดูเด็กของผู้เลี้ยงดูหลัก พฤติกรรมการใช้คู่มือ DSPM ของผู้เลี้ยงดูหลัก และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพัฒนาการเด็กปฐมวัย กลุ่มตัวอย่างเป็นพ่อหรือแม่หรือบุคคลในครอบครัวที่ใช้เวลาในแต่ละวันในช่วงกลางวันกับเด็กมากที่สุดและดูแลเด็กอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไปและเด็กปฐมวัยที่มีอายุตั้งแต่ 9 เดือนถึงอายุ 5 ปี 11 เดือน 29 วัน จำนวน 5,113 คน โดยสุ่มแบบ Multi-stage stratified sampling จาก 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศ ไม่รวมกรุงเทพมหานคร เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์ตามแบบสอบถาม ประเมินภาวะการเจริญเติบโต ตรวจสุขภาพช่องปากและประเมินพัฒนาการเด็กด้วย DENVER II ผลการศึกษา พบว่าเด็กปฐมวัยไทยมีพัฒนาการสมวัยรวมทุกด้าน ร้อยละ 70.3 เมื่อจำแนกตามกลุ่มอายุ พบเด็ก อายุ 0-2 ปี และ 3-5 ปีมีพัฒนาการสมวัยรวมทุกด้าน ร้อยละ 77.2 และ 63.2 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ พ.ศ. 2560 พบว่าสถานการณ์พัฒนาการสมวัยเด็กปฐมวัยไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังต่ำกว่าเป้าหมายประเทศ คือ ร้อยละ 85 ผู้เลี้ยงดูหลักร้อยละ 61.3 ได้รับคู่มือ DSPM ได้อ่านและใช้คู่มือ DSPM ร้อยละ 37.6 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพัฒนาการเด็กปฐมวัย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติได้แก่ อาชีพของพ่อ อายุแม่ของเด็กขณะตั้งครรภ์ การฝากครรภ์ครั้งแรกก่อน 12 สัปดาห์ การติดเชื้อของแม่ในระหว่างตั้งครรภ์ อายุของเด็ก เพศของเด็ก เด็กยังกินนมแม่ การเล่านิทานให้เด็กฟัง การมีคราบจุลินทรีย์ในช่องปากเด็ก และพฤติกรรมการใช้คู่มือ DSPM ของผู้เลี้ยงดูหลัก ข้อเสนอแนะ : รณรงค์ประชาสัมพันธ์ สร้างกระแสให้ครอบครัว ชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความรู้และเกิดความตระหนักต่อการส่งเสริมพัฒนาการเด็กและการฝากท้องก่อน 12 สัปดาห์ พัฒนาระบบบริการคลินิกเด็กสุขภาพดีให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน หน่วยบริการในระดับพื้นที่ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาศักยภาพครูผู้ดูแลเด็ก หน่วยบริการทุกระดับมีระบบการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลพัฒนาการเด็กปฐมวัยเพื่อใช้ติดตามวางแผนการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถคืนข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2023-07-06

ฉบับ

บท

Original Articles (บทวิทยาการ)