การจัดลำดับชุมชนด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพดี

ผู้แต่ง

  • นฤภร บูรณนัติ กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย
  • สุนิษา มะลิวัลย์ กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย
  • ทิพย์กมล ภูมิพันธ์ กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย
  • เบญจวรรณ ธวัชสุภา กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย

คำสำคัญ:

การจัดลำดับชุมชน, สุขภาพ, ตัวชี้วัดอนามัยสิ่งแวดล้อม

บทคัดย่อ

สถานการณ์อนามัยสิ่งแวดล้อมในชุมชนของไทย มีความแตกต่างกันและยังคงเป็นปัญหาในหลายพื้นที่ การศึกษาสถานการณ์ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมระดับชุมชนในต่างประเทศ ใช้วิธีการจัดทำตัวชี้วัดและจัดลำดับชุมชนด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม เพื่อประเมินสถานการณ์และวิเคราะห์ศักยภาพของชุมชนในการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลการจัดลำดับชุมชนนี้ การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดลำดับชุมชนด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพดีของไทย รูปแบบการวิจัยเป็นการศึกษาข้อมูลแบบภาคตัดขวาง (Cross-sectional study) โดยใช้แบบสอบถามรวบรวมข้อมูลตามตัวชี้วัดด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่พัฒนาขึ้นจากการหารือผู้เชี่ยวชาญด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมด้วยกรอบแนวคิด DPSEEA เพื่อให้ได้ข้อมูลสถานการณ์ปี 2562 จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 53 แห่ง ซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างชุมชนที่ผ่านการสุ่มแบบเฉพาะเจาะจงให้ครอบคลุมทั้งชุมชนชนบท ชุมชนเมือง และชุมชนเมืองขนาดใหญ่ ดำเนินการในช่วงพฤษภาคม-กรกฎาคม 2563 และนำมาวิเคราะห์ผลการจัดลำดับชุมชนด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ผลการศึกษาพบว่า ตัวชี้วัดเพื่อการจัดลำดับชุมชนด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพดี ประกอบด้วยดัชนีย่อย 3 ด้านคือ ดัชนีสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน 4 ตัวชี้วัด ดัชนีสิ่งแวดล้อมชุมชน 39 ตัวชี้วัด และดัชนีสุขภาพชุมชน 12 ตัวชี้วัด ผลการรวบรวมข้อมูลและจัดลำดับชุมชน พบว่า ดัชนีสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน มีค่าคะแนนระหว่าง 0.12-1.00 มีคะแนนเฉลี่ยที่ 0.57 สำหรับดัชนีสิ่งแวดล้อมชุมชน มีค่าคะแนนระหว่าง 0.01-1.00 มีคะแนนเฉลี่ย 0.56 และดัชนีสุขภาพชุมชน มีค่าคะแนนระหว่าง 0.63-1.00 มีคะแนนเฉลี่ย 0.91 ทั้งนี้ คะแนนผลรวมของดัชนีทั้ง 3 ด้าน มีค่าคะแนนระหว่าง 0.13-2.84 คะแนน มีคะแนนเฉลี่ยที่ 1.91 และนำมาจัดลำดับชุมชนตามค่าคะแนนของตัวชี้วัด จนได้ชุมชนที่มีศักยภาพด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพในระดับดีมากที่สุด ดีมาก ปานกลางและน้อย รวมทั้งแสดงผลการจัดลำดับชุมชนทางเว็บไซต์ http://enh-commumity.com เพื่อให้ชุมชนเข้าถึงข้อมูลเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ได้ง่าย สรุปผลการศึกษานี้ ได้ผลการจัดลำดับชุมชนที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีของประเทศไทย ซึ่งครอบคลุมมิติด้านเศรษฐกิจและสังคม ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและด้านสุขภาพ และจากผลการจัดลำดับชุมชนนี้ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ชี้ให้ชุมชนเห็นศักยภาพของตนเองในการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมเมื่อเปรียบเทียบลำดับกับชุมชนอื่น และในอนาคตสามารถใช้ในการกำกับติดตามการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละปี และชี้ให้เห็นประเด็นที่ควรต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาชุมชนเพื่อให้มีอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีต่อไป

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2023-07-06

ฉบับ

บท

Original Articles (บทวิทยาการ)