การพัฒนาระบบการจัดการของเสียทางการแพทย์ สำหรับโรงพยาบาลในประเทศไทย

ผู้แต่ง

  • ปรียานุช บูรณะภักดี สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย

คำสำคัญ:

การจัดการของเสียทางการแพทย์, ของเสียทางการแพทย์, มูลฝอยติดเชื้อ, มูลฝอยอันตราย, โรงพยาบาล

บทคัดย่อ

การศึกษานี้เป็นการวิจัยแบบผสมผสาน มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาระบบการจัดการของเสียทางการแพทย์สำหรับโรงพยาบาล ดำเนินการศึกษาในปี 2562–2564 โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะแรกศึกษาสถานการณ์การจัดการของเสียทางการแพทย์ โดยเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพจากโรงพยาบาล 10 แห่ง ครอบคลุมทุกขนาด พร้อมใช้แบบสอบถามเพื่อเก็บข้อมูลสุขภาพผู้ปฏิบัติงาน 200 คน และเก็บข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้แบบสำรวจโรงพยาบาลทุกขนาด 377 แห่ง ข้อมูลทั้งหมดถูกรวบรวมและวิเคราะห์เข้าสู่ระยะที่สองเป็นการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างเครื่องมือดิจิทัลในการบริหารจัดการและพัฒนารูปแบบแนวทางการจัดการของเสียทางการแพทย์ที่เหมาะสมสำหรับโรงพยาบาล ส่วนระยะที่สามเป็นการทดลองใช้และประเมินผล วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณตามวัตถุประสงค์การศึกษา สถานการณ์การจัดการของเสียทางการแพทย์พบว่า โรงพยาบาลส่วนใหญ่มีบุคลากรรับผิดชอบเฉพาะ และดำเนินการในรูปแบบคณะกรรมการที่มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป มีการคัดแยกมูลฝอย 5 ประเภทคือ มูลฝอยติดเชื้อ มูลฝอยทั่วไป มูลฝอยอันตราย มูลฝอยรีไซเคิล และมูลฝอยอินทรีย์ โดยมูลฝอยทั่วไปพบมากที่สุด มีอัตราการเกิดมูลฝอยเฉลี่ย 0.23–1.89 กก.ต่อครั้งของผู้มารับบริการ ด้านการจัดการนํ้าเสียพบว่า โรงพยาบาลมีอัตราการเกิดนํ้าเสียแตกต่างกันตามขนาดโรงพยาบาลอยู่ในช่วง 0.09–5.0 ลบ.ม.ต่อเตียงต่อวัน ด้านผู้ปฏิบัติงานพบว่า มีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพและการป้องกันโรคจากการทำงานอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 50 และ 66 ตามลำดับ สำหรับการพัฒนาระบบการจัดการของเสียทางการแพทย์สำหรับโรงพยาบาล ประกอบด้วยเครื่องมือดิจิทัลในการบริหารจัดการมูลฝอยอันตรายสำหรับโรงพยาบาล (โปรแกรม) เมื่อนำไปใช้กับโรงพยาบาล 535 แห่ง พบว่า ในเดือนมิถุนายน 2564 มีปริมาณมูลฝอยอันตรายที่โรงพยาบาลบันทึกในระบบฯ รวมจำนวน 168,432 กก. โดยมูลฝอยอันตรายที่เกิดขึ้นมากที่สุด คือ เวชภัณฑ์ (ร้อยละ 45) และรูปแบบแนวทางการจัดการของเสียทางการแพทย์ที่เหมาะสมสำหรับโรงพยาบาล พบว่ามีองค์ประกอบ 3 ด้าน คือ ด้านการบริหารจัดการที่มุ่งเน้นการจัดทำนโยบายและกำหนดหน้าที่ในการจัดการของเสียที่ชัดเจน ด้านหลักการจัดการของเสียทางการแพทย์โดยการคัดแยก รวบรวม เก็บขน และกำจัดอย่างถูกต้อง และด้านแนวทางการจัดการของเสียทางการแพทย์ที่เหมาะสม โดยจัดทำแนวทางปฏิบัติในการจัดการของเสียทางการแพทย์ที่ถูกต้องและปลอดภัยแยกตามประเภทของเสีย ดังนั้นควรส่งเสริมให้โรงพยาบาลมีระบบการจัดการของเสียทางการแพทย์ที่เป็นระบบเดียวกันและให้ความสำคัญกับการลดและคัดแยกมูลฝอยที่แหล่งกำเนิด

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2023-12-22

ฉบับ

บท

Original Articles (บทวิทยาการ)