ผลสำเร็จและปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการเลิกบุหรี่ของผู้ป่วย ในคลินิกทันตกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คำสำคัญ:
เลิกบุหรี่, หยุดสูบบุหรี่, นักศึกษาทันตแพทย์, ทันตกรรม, ทันตแพทย์บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลสำเร็จของการสร้างแรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสูบบุหรี่ และปัจจัยในการเลิกบุหรี่ของผู้รับบริการทันตกรรมในคลินิกทันตกรรมนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวาง เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม 2 ชุด ชุดที่ 1 เก็บข้อมูลทั่วไปของอาสาสมัครวิจัย ชุดที่ 2 ตรวจสอบอัตราการเลิกบุหรี่ และใช้เครื่อง piCOTM Smokerlyzer วัดระดับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ข้อมูลเชิงคุณภาพได้จากการสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มตัวอย่างที่สามารถเลิกหรือลดปริมาณการสูบบุหรี่ วิเคราะห์ด้วยสถิติเชิงพรรณา และวิธี Coding analysis ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยปริทันต์ทั้งหมด 770 ราย มีผู้สูบบุหรี่ 48 ราย และรับคำแนะนำเลิกบุหรี่และรักษาทางทันตกรรมเสร็จสิ้น 33 ราย แต่ยินดีเข้าร่วมการศึกษา 15 ราย พบว่าใน 15 รายนี้เลิกสูบบุหรี่ได้ 4 ราย ลดจำนวนการสูบต่อวันลง 3 ราย สูบเท่าเดิม 8 ราย จากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ พบปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเลิกบุหรี่ คือ 1) การรับรู้ผลเสียที่เกิดขึ้นต่อร่างกายของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถในการออกกำลังกายลดลง 2) ทัศนคติส่วนบุคคล 3) การสนับสนุนจากบุคคลสำคัญ 4) คำแนะนำจากนักศึกษาทันตแพทย์เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพช่องปาก สรุป พบอัตราการเลิกบุหรี่ของกลุ่มตัวอย่างในระดับปานกลาง ควรนำปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้ง 4 ปัจจัย มาปรับใช้ในการสร้างแรงจูงใจเลิกบุหรี่พร้อมทั้งติดตามผลในระยะยาวจะช่วยให้ ผู้ป่วยสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลง ทั้งสุขภาพช่องปากและสุขภาพร่างกายของตนเองไปในทางที่ดีขึ้น
ดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
ฉบับ
บท
การอนุญาต
ลิขสิทธิ์ (c) 2023 วารสารการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม

This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.