การพัฒนารูปแบบการสร้างพลังแกนนำครอบครัว รอบรู้สู้โควิด-19 อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี

ผู้แต่ง

  • วิมล บ้านพวน สาธารณสุขศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก
  • พนิต เข็มทอง คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • สุพัฒน์ ธีรเวชเจริญชัย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก

คำสำคัญ:

ผลของรูปแบบการสร้างพลัง, ครอบครัวรอบรู้สู้โควิด-19, แกนนำครอบครัว, พฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพ, พฤติกรรมการป้องกันโรคโควิด-19

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการสร้างพลังแกนนำครอบครัวรอบรู้สู้โควิด-19 ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของครอบครัวและพื้นที่ ประชากรประกอบด้วยแกนนำซึ่งเป็นอาสาสมัครจากครอบครัว ชุมชน ในพื้นที่อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี กลุ่มตัวอย่างได้จากการสุ่มแบบไม่คืนที่ สุ่มเลือกตำบลที่ดำเนินการทดลองและตำบลพื้นที่เปรียบเทียบโดยใช้หลักการสุ่มแบบกลุ่มขั้นตอนเดียวได้ตำบลบางม่วงเป็นพื้นที่ทดลอง และตำบลบางใหญ่เป็นพื้นที่เปรียบเทียบซึ่งมีบริบทไม่แตกต่างกัน แกนนำยินดีเข้าร่วมโครงการตำบลละ 35 คน การศึกษามี 3 ระยะคือ 1) ระยะเตรียมการเป็นการกำหนดกรอบประเด็นการพัฒนารูปแบบและเครื่องมือ คู่มือ 2) ระยะดำเนินการ เป็นขั้นทดลองการนำรูปแบบที่ได้พัฒนาไปใช้ มีรูปแบบการวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi-Experimental Research) แบบ 2 กลุ่มโดยดำเนินการวัดก่อน - หลังการนํารูปแบบไปใช้ และ 3) ระยะติดตามผลการดำเนินงาน เก็บข้อมูลเชิงปริมาณด้วยแบบสอบถามและข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการสนทนากลุ่ม(Focus Group) และสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth interview) การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติเชิงพรรณนาและการวิเคราะห์เนื้อหา ดำเนินการระหว่าง เดือนตุลาคม 2564 ถึง เดือนธันวาคม 2565 ผลการศึกษา พบว่าการพัฒนารูปแบบการสร้างพลังแกนนำครอบครัวรอบรู้สู้โควิด-19 ในระยะที่หนึ่ง ได้คู่มือชุดความรู้สร้างพลังแกนนำครอบครัวรอบรู้สู้โควิด -19 รูปแบบเป็น E-book ที่เข้าถึงได้ง่ายและแผนส่งเสริมสุขภาพดี รายครัวเรือน (Wellness Family) เป็นเครื่องมือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ระยะที่สองเป็นขั้นการทดลองพบว่า กลุ่มทดลองที่ได้รับรูปแบบการสร้างพลังแกนนำครอบครัวรอบรู้สู้โควิด-19 มีคะแนนพฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพและพฤติกรรมการป้องกันโรคโควิด-19 สูงกว่าก่อนได้รับรูปแบบ โดยก่อนการใช้รูปแบบ มีค่าเฉลี่ยคะแนน = 2.20 S.D.= 0.27 หลังการทดลองค่าเฉลี่ยคะแนน = 2.33 S.D.= 0.19 P-value < 0.001 แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ .05 และกลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยด้านพฤติกรรมสุขภาพสูงกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ คะแนนเฉลี่ย = 2.851 S.D.= 0.093 กลุ่มเปรียบเทียบ มีคะแนนเฉลี่ย = 2.362 S.D.= 0.218 P-value < 0.001 ซึ่งแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05 ระยะที่สามพบว่าแกนนำครอบครัวมีการนำองค์ความรู้ไปใช้อย่างต่อเนื่อง มีการบูรณาการงานส่งเสริมสุขภาพที่ดีโดยการมีส่วนร่วมของครอบครัว ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ข้อเสนอแนะ การพัฒนารูปแบบการสร้างพลังแกนนำครอบครัวรอบรู้สู้โควิด-19 เป็นรูปแบบที่มีกระบวนการแนวทางการดำเนินงาน เครื่องมือ คู่มือเพื่อทำให้ประชาชน ครอบครัว ชุมชน มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ มีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่องและกำหนดหรือเพิ่มเป็นนโยบายในการส่งเสริมสุขภาพครอบครัว

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2024-04-29

ฉบับ

บท

Original Articles (บทวิทยาการ)