การประเมินผลโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 เขตสุขภาพที่ 6

ผู้แต่ง

  • วิภา วงค์เมฆ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ
  • ปาณิสรา สิทธินาม ศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี

คำสำคัญ:

พัฒนาการ, เด็กปฐมวัย, ผู้ดูแลเด็กหลัก, เจ้าหน้าที่สาธารณสุข

บทคัดย่อ

เด็กเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาประเทศ การที่เด็กจะเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพนั้น จะต้องมีพัฒนาการที่สมบูรณ์พร้อมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา การวิจัยนี้เป็นการวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Methods Research) เพื่อศึกษาพัฒนาการของเด็กอายุ 9, 18, 30, 42, 60 เดือน พฤติกรรมการส่งเสริมพัฒนาการเด็กตามคู่มือ DSPM ของผู้เลี้ยงดูหลัก และระบบการบริหารจัดการโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้เลี้ยงดูเด็ก และเด็กปฐมวัยที่มีอายุตั้งแต่ 9 เดือนถึง 5 ปี 11 เดือน 29 วัน จำนวน 362 คน และบุคลากรสาธารณสุขจำนวน 14 คน ผลการวิจัย พบว่า เด็กส่วนใหญ่พัฒนาการสมวัย 272 คน (ร้อยละ 75.14) เด็กอายุ 9 เดือนพัฒนาการสมวัยมากที่สุด 77 คน (ร้อยละ 93.90) เด็กอายุ 42 เดือนพัฒนาการสงสัยล่าช้ามากที่สุด 32 คน (ร้อยละ 43.24) ผู้เลี้ยงดูหลักได้รับคู่มือ DSPM 236 คน (ร้อยละ 65.19) ได้รับที่ตึกหลังคลอด 161 คน (ร้อยละ 44.48) ได้รับคำอธิบายการใช้คู่มือ DSPM 200 คน (ร้อยละ 55.25) มีความเข้าใจเมื่อได้รับคำอธิบาย 189 คน (ร้อยละ 52.21) อ่านคู่มือ DSPM 190 คน (ร้อยละ 52.49) อ่านเป็นเดือนๆตามอายุลูก 122 คน (ร้อยละ 33.70) ใช้บ้างนานๆ ครั้ง 117 คน (ร้อยละ 32.32) และระบบการบริหารจัดการโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กฯ พบว่า บุคลากรสาธารณสุขได้รับการพัฒนาศักยภาพโดยการฝึกอบรมการใช้คู่มือ DSPM จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลแม่ข่ายในพื้นที่ ได้รับการสนับสนุนจากผู้จัดการระบบการดูแลส่งเสริมพัฒนาการเด็กในด้านองค์ความรู้เรื่องการประเมินคัดกรองพัฒนาการ และอุปกรณ์ประเมิน DSPM บุคลลากรสาธารณสุขให้คำแนะนำการเฝ้าระวังและการส่งเสริมพัฒนาการเด็กตามคู่มือ DSPM แก่ผู้ปกครองเด็ก และโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กฯ มีจุดแข็งในลักษณะของการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย ระหว่างคณะกรรมการระดับอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านที่มีความเข้มแข็งทำงานร่วมกันในการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก และจุดอ่อนของโครงการคือ พ่อแม่ ผู้ปกครองเด็กยังไม่ค่อยเข้าใจและให้ความสำคัญในเรื่องการเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ดังนั้นควรพัฒนา ปรับระบบบริหารจัดการคู่มือ DSPM ให้ครอบคลุมเด็กทุกราย พร้อมให้ความรู้ ทักษะในการใช้คู่มือ DSPM ในช่วงหลังคลอด ก่อนออกจากโรงพยาบาล และติดตาม สนับสนุนองค์ความรู้ ทักษะการใช้คู่มือ DSPM แก่แม่หลังคลอด หรือผู้ดูแลเด็กในการเยี่ยมติดตามหลังคลอด โดยทีมเครือข่ายในระดับพื้นที่

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2024-04-29

ฉบับ

บท

Original Articles (บทวิทยาการ)