ประสิทธิผลของโปรแกรมประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัย

ผู้แต่ง

  • สุพัตรา บุญเจียม ศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี

คำสำคัญ:

ประสิทธิผล, พัฒนาการเด็กปฐมวัย

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ประสิทธิผลของโปรแกรมประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัย โดยการเปรียบเทียบพัฒนาการของเด็กก่อนและหลังใช้โปรแกรมประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัย การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบกึ่งทดลอง (Quasi-experimental study) กลุ่มทดลองใช้โปรแกรมประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัยที่ผู้วิจัยได้พัฒนาขึ้น ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับคู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย (DSPM) ตามปกติ กลุ่มตัวอย่าง 104 คน (กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 52 คน) เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์ข้อมูลทั่วไปของผู้เลี้ยงดู ประเมินความพึงพอใจในการใช้โปรแกรมประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัย และตรวจพัฒนาการเด็กด้วยเครื่องมือ DSPM และ Denver II 3 ครั้ง ก่อนเริ่มใช้โปรแกรมฯ ติดตามที่ 3 เดือนและ 6 เดือน วิเคราะห์ข้อมูลด้วย การแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสมการประมาณค่านัยทั่วไป (Generalized Estimating Equation: GEE) ผลการวิจัยพบว่า ผู้เลี้ยงดูมีความพึงพอใจโปรแกรมฯในภาพรวมคะแนนเฉลี่ย 4.67 เด็กปฐมวัยกลุ่มทดลองมีพัฒนาการสมวัยมากกว่ากลุ่มควบคุม โดยเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูจากผู้เลี้ยงดูที่ใช้โปรแกรมฯมีพัฒนาการสมวัยมากกว่าเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูจากผู้เลี้ยงดูที่ไม่ได้ใช้โปรแกรมฯ 4.0 เท่า 95%CI 1.26 – 7.14, P value 0.003 (Denver II) เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูจากผู้เลี้ยงดูที่ใช้โปรแกรมฯมีพัฒนาการสมวัยมากกว่าเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูจาก ผู้เลี้ยงดูที่ไม่ได้ใช้โปรแกรมฯ 3.4 เท่า 95%CI 1.44 – 5.02, P value 0.008 (DSPM) สรุปคือ โปรแกรมประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัยมีประสิทธิผลที่ดีเมื่อผู้เลี้ยงดูได้ใช้ในการส่งเสริมและเฝ้าระวังพัฒนาการเด็กสามารถส่งผลให้เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการสมวัยเพิ่มขึ้นได้ กิจกรรมที่สำคัญคือ การประเมินพัฒนาการเด็กโดยใช้โปรแกรมฯของผู้เลี้ยงดูเด็กก่อนถึงวันตรวจพัฒนาการ และการคืนข้อมูลรายบุคคลการตรวจพัฒนาการ หากผู้เลี้ยงดูเด็กเห็นประโยชน์ของการเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ก็จะเกิดการเรียนรู้และปรับพฤติกรรมในการเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก และแก้ไขปัญหานั้นจนได้ผลที่ดีกับเด็กปฐมวัย เพื่อเป็นการแก้ไขและป้องกันปัญหาในระยะยาวที่ต่อเนื่องและยั่งยืน

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2024-04-29

ฉบับ

บท

Original Articles (บทวิทยาการ)