การพัฒนารูปแบบการเรียนรู้เพื่อชะลอและป้องกันภาวะสมองเสื่อมของผู้สูงอายุในโรงเรียนผู้สูงอายุ : เขตสุขภาพที่ 7

ผู้แต่ง

  • กัญญา จันทร์พล ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น
  • สดุดี ภูห้องไสย ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น

คำสำคัญ:

สมองเสื่อม, รูปแบบการส่งเสริมสุขภาพ, โรงเรียนผู้สูงอายุ, ชมรมผู้สูงอายุ

บทคัดย่อ

ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ปัญหาความเสื่อมของระบบประสาทเป็นปัญหาที่สำคัญ ในระยะแรกจะเกิดอาการภาวะความจำพร่องเล็กน้อย หากไม่ได้ทำกิจกรรมชะลอหรือป้องกันภาวะสมองเสื่อม จะนำไปสู่การเกิดโรคสมองเสื่อมได้ โรงเรียนหรือชมรมผู้สูงอายุได้มีการจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ผู้สูงอายุได้มีกิจกรรมร่วมกัน การส่งเสริมสุขภาพให้นักเรียนผู้สูงอายุนับได้ว่ามีความสำคัญที่จะช่วยชะลอความเสื่อมทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาและประเมินผลรูปแบบการเรียนรู้ในการชะลอและป้องกันภาวะสมองเสื่อมของผู้สูงอายุในโรงเรียนผู้สูงอายุ : เขตสุขภาพที่ 7 โดยเป็นการวิจัยและพัฒนาแบบชุมชนมีส่วนร่วม ดำเนินการพัฒนารูปแบบร่วมกับแกนนำโรงเรียนผู้สูงอายุ จำนวน 8 แห่ง ใน 4 จังหวัดของเขตสุขภาพที่ 7 และนำรูปแบบไปใช้ในนักเรียนผู้สูงอายุทั้ง 8 แห่ง จำนวนทั้งสิ้น 210 คนระยะเวลา 6 เดือน วิเคราะห์เปรียบเทียบภาวะสุขภาพ คะแนนพฤติกรรมสุขภาพ คะแนนจากแบบทดสอบสภาพสมอง : Abbreviated Mental Test (AMT) ก่อนและหลังการใช้รูปแบบฯ ด้วยสถิติ Paired t-test ประเมินความพึงพอใจของตัวแทนครูผู้สอนในโรงเรียนหรือชมรมผู้สูงอายุ ผลการศึกษาในครั้งนี้ทำให้ได้รูปแบบการเรียนรู้เพื่อชะลอและป้องกันภาวะสมองเสื่อมของผู้สูงอายุในโรงเรียนผู้สูงอายุ : เขตสุขภาพที่ 7 ในชื่อแผนการเรียนรู้ “สูงวัยสมองดีไม่มีลืม” โดยในแผนประกอบด้วย 5 ประเด็นได้แก่ 1) การออกกำลังกาย 2) การฝึกบริหารสมอง 3) ความสุขและการจัดการอารมณ์ 4) โภชนาการ และ 5) การนอนหลับ นำไปใช้ในกลุ่มตัวอย่าง 210 คน ซึ่งมีอายุเฉลี่ย 68.50 ± 5.18 ปี อายุน้อย-มากที่สุด 60-85 ปี ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 86.2 มีโรคประจำตัวร้อยละ 46.7 โดยเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากที่สุดรองลงมาคือโรคเบาหวาน สถานภาพสมรสอยู่เป็นคู่มากที่สุดร้อยละ 53.8 จบการศึกษาประถมศึกษา ร้อยละ 89.5 เมื่อทำการเปรียบเทียบพฤติกรรมสุขภาพ น้ำหนัก รอบเอว และคะแนน AMT ก่อนและหลังนำรูปแบบการเรียนรู้ฯ ไปใช้ในโรงเรียนพบว่า น้ำหนักตัว และรอบเอว ไม่พบความแตกต่างกันทางสถิติระหว่างก่อนละหลังการใช้รูปแบบการเรียนรู้ฯ ส่วนของค่าเฉลี่ยคะแนนพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ p-value <0.05 ภาวะเสี่ยงสมองเสื่อม ลดลงจากร้อยละ 22.9 เป็นร้อยละ 9.5 โดยค่าเฉลี่ยคะแนน AMT เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ p-value <0.05 ครูผู้สอนในโรงเรียนหรือชมชม มีความพึงพอใจต่อรูปแบบการเรียนรู้ฯ จะเห็นได้ว่ารูปแบบการเรียนรู้ฯ มีประสิทธิภาพในการชะลอหรือป้องกันภาวะสมองเสื่อมเห็นควรให้มีการขยายผลนำไปใช้ในชุมชนอื่น โดยประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับบริบทของแต่ละชุมชนต่อไป

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2024-06-06

ฉบับ

บท

Original Articles (บทวิทยาการ)