พฤติกรรมการป้องกันโควิด-19 หลังการระบาดของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่มารับบริการ ณ สถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง กระทรวงสาธารณสุข

ผู้แต่ง

  • วิภาดา รูปงาม นักศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสุขศึกษาและส่งเสริมสุขภาพ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • มณีรัตน์ ธีระวิวัฒน์ ภาควิชาสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • อลงกรณ์ เปกาลี ภาควิชาสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • นิรัตน์ อิมามี สาขาวิชาสุขศึกษาและส่งเสริมสุขภาพ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

คำสำคัญ:

พฤติกรรมการป้องกันโรคโควิด–19, ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs), การรับรู้ความสามารถตนเอง

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงสำรวจแบบภาคตัดขวาง (Cross-sectional survey research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันโรคโควิด-19 หลังการระบาดของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่มารับบริการ ณ สถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง ทำการสุ่มตัวอย่างอย่างเป็นระบบ ได้จำนวนตัวอย่าง 254 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยให้กลุ่มตัวอย่างตอบแบบสอบถามด้วยตนเอง วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาและการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ด้วยสถิติไคสแควร์ (Chi-square test) และฟิสเชอร์ (Fisher exact test) ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการป้องกันโรคโควิด-19 หลังการระบาดอยู่ในระดับดี ร้อยละ 68.9 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันโรคโควิด-19 หลังการระบาด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ได้แก่ ปัจจัยด้านรายได้ต่อเดือน ประวัติการฉีดวัคซีนโควิด การรับรู้ความรุนแรงของโรคโควิด-19 ความคาดหวังในผลของการปฏิบัติพฤติกรรมป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 การรับรู้ความสามารถตนเองในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 รวมทั้งปัจจัยเอื้อและปัจจัยเสริมในการปฏิบัติพฤติกรรมการป้องกันโรคโควิด-19 ข้อเสนอแนะจากการวิจัย สถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมืองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมพฤติกรรมในการป้องกันโรคโควิด-19 หลังการระบาด ให้แก่กลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการสร้างเสริมการรับรู้ความรุนแรงของโรคโควิด-19 ความคาดหวังในผลของการปฏิบัติพฤติกรรมป้องกันการติดเชื้อโรคโควิด-19 และการรับรู้ความสามารถตนเอง เพื่อให้กลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง สามารถปฏิบัติตัวเพื่อการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพต่อไป

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2024-06-06

ฉบับ

บท

Original Articles (บทวิทยาการ)