การสำรวจความรอบรู้ด้านทันตสุขภาพและคุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพช่องปากของเด็กและเยาวชนในสถานพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชน ศูนย์ฝึกและอบรม เด็กและเยาวชนของประเทศไทยปี 2566

ผู้แต่ง

  • จรัสศรี ศรีนฤพัฒน์ สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย
  • นพวรรณ โพชนุกูล สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย
  • ปิ่นปินัทธ์ วณิชย์สายทอง ภาควิชาทันตกรรมครอบครัวและชุมชน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

คำสำคัญ:

ความรอบรู้ด้านทันตสุขภาพ, คุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพช่องปาก, สถานพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชน, ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้เป็นแบบภาคตัดขวาง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์ความรอบรู้ด้านทันตสุขภาพและคุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพช่องปากของเด็กและเยาวชน ในสถานพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชน ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน กลุ่มตัวอย่างคัดเลือกแบบเจาะจงจำนวน 400 คนจาก 4 ภาคของไทยได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ นครสวรรค์ อุบลราชธานี และสุราษฎร์ธานี เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 23 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม 2567 โดยใช้แบบวัดความรอบรู้ด้านทันตสุขภาพระดับพื้นฐาน (P-TOFHLiD) และแบบวัดคุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพช่องปากสำหรับเด็ก (Child-OIDP) วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาและสถิติวิเคราะห์การถดถอยแบบพัวซอง ผลการศึกษาพบว่า เด็กและเยาวชน อายุเฉลี่ย 16.8 ± 1.5 ปี ชาย 375 คน หญิง 25 คน คะแนนเฉลี่ยความรอบรู้ด้านทันตสุขภาพโดยรวม 20.4 ± 3.6 คะแนน จากคะแนนเต็ม 26 คะแนน คะแนนเฉลี่ยต่ำสุดเรื่องอาหารที่เสี่ยงต่อฟันผุ 3.8 ± 1.4 คะแนน ส่วนใหญ่ร้อยละ 89.5 ได้รับผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในมิติช่องปาก โดยเฉพาะด้านการรับประทานอาหารพบมากที่สุด ร้อยละ 55.5 ผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพช่องปากด้านกายภาพ พบว่ามีความสัมพันธ์กับการมีความรอบรู้ด้านทันตสุขภาพ การรับรู้ความรุนแรงของปัญหาสุขภาพช่องปากโดยรวม และความต้องการรักษาและแก้ไขอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (adjusted PRs = 1.19; 95%CI = 1.07–1.33, 2.34; 95%CI = 2.25–2.44 และ2.24; 95%CI = 1.74–2.90 ตามลำดับ) ผลการศึกษานี้นำไปพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายโดยเฉพาะการสร้างความรอบรู้ด้านทันตสุขภาพ เพื่อให้เกิดพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากที่พึงประสงค์ และพัฒนาระบบบริการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนในสถานพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชน ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืนต่อไป

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2024-06-06

ฉบับ

บท

Original Articles (บทวิทยาการ)