การพัฒนารูปแบบการจัดบริการอาชีวอนามัยของศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก

ผู้แต่ง

  • ภูเบศ ด้วงสงกา ศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก
  • กรรณิการ์ สุวรรณ ศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก
  • กฤติญา อ่วมแจง ศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงปฏิบัติการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดบริการอาชีวอนามัยของศูนย์อนามัย  ที่ 2 พิษณุโลก และประเมินผลรูปแบบการจัดบริการอาชีวอนามัยของศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก ที่ได้พัฒนาขึ้น การพัฒนารูปแบบการจัดบริการอาชีวอนามัยใช้กรอบแนวคิดของ Kemmis & McTaggart มี 4 ระยะ ประกอบด้วย การวางแผน การออกแบบรูปแบบการจัดบริการอาชีวอนามัย การสังเกตผลการปฏิบัติ และการสะท้อนผลการปฏิบัติ กลุ่มตัวอย่างที่ร่วมในระยะการวางแผนมีจำนวนทั้งหมด 12 ราย เลือกแบบเจาะจงตามคุณสมบัติที่กำหนด ได้แก่ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล หัวหน้างานคัดกรองสุขภาพ หัวหน้างานให้คำปรึกษา และคณะกรรมการอาชีอนามัย จำนวน 9 ราย ดำเนินการรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567 นำข้อมูลมาวิเคราะห์เชิงเนื้อหา และใช้สถิติเชิงพรรณนา ผลการศึกษาพบว่า รูปแบบการจัดบริการอาชีวอนามัยของศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก เป็นการดำเนินงานภายใต้คณะกรรมการอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการประกอบด้วย แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ พยาบาลอาชีวอนามัย และบุคลากรที่ผ่านการอบรมด้านความปลอดภัย กิจกรรมการดำเนินงานมี 2 ส่วนหลัก คือ การดำเนินการด้านนโยบาย และการจัดบริการ โดยการจัดบริการมีทั้งเชิงรุกและเชิงรับ และมีคลินิกอาชีวอนามัยรองรับบริการ สำหรับผลการประเมินรูปแบบการจัดบริการอาชีวอนามัยของศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก ที่พัฒนาขึ้น พบว่า รูปแบบการจัดบริการอาชีวอนามัยดังกล่าว ทำให้เกิดผลลัพธ์ผ่านตามเกณฑ์และมาตรฐานการจัดบริการอาชีวอนามัยและเวชกรรมสิ่งแวดล้อมสำหรับโรงพยาบาลชุมชนทั้ง 5 องค์ประกอบ ได้แก่ การบริหารจัดการเพื่อสนับสนุนการจัดบริการอาชีวอนามัยและเวชกรรมสิ่งแวดล้อม การจัดบริการอาชีวอนามัยสำหรับบุคลากร การจัดบริการอาชีวอนามัยและเวชกรรมสิ่งแวดล้อมเชิงรุก การจัดบริการอาชีวอนามัยและเวชกรรมสิ่งแวดล้อมเชิงรับ และการดำเนินงานจัดบริการเวชกรรมสิ่งแวดล้อม โดยร้อยละ 100 ของทุกองค์ประกอบผ่านเกณฑ์ในระดับดีเด่น

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2024-11-20