การขับเคลื่อนโยบายลดการบริโภคหวาน เพื่อป้องกันการเกิดโรคในช่องปากและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังกลุ่มวัยทำงาน
คำสำคัญ:
เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล, เครื่องดื่มหวาน, ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม, วัยทำงานบทคัดย่อ
การศึกษาเชิงวิเคราะห์แบบภาคตัดขวางนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล หรือเครื่องดื่มหวานในกลุ่มวัยทำงานตอนต้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาและผลักดันนโยบายลดการบริโภคหวานในกลุ่มเป้าหมาย คำนวณขนาดตัวอย่างที่เป็นตัวแทนประชากรวัยทำงานตอนต้นอายุ 15-29 ปี สุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบสองชั้นภูมิจากจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของศูนย์อนามัยใน 4 ภูมิภาค จำนวน 560 คน เก็บข้อมูลเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2566 โดยการสัมภาษณ์และบันทึกผลในแบบฟอร์มอิเล็กโทรนิกส์สำเร็จรูป วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปและปริมาณน้ำตาลเฉลี่ยที่ได้รับต่อวันด้วยสถิติเชิงพรรณนา หาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมกับพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มหวานด้วยสถิติถดถอยโลจิสติก โดยกำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ p < 0.05 ผลการศึกษาพบว่า วัยทำงานตอนต้นร้อยละ 99.3 ดื่มเครื่องดื่มหวานอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ เครื่องดื่มหวานที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ เครื่องดื่มชงสด (ร้อยละ 77.5) ปริมาณน้ำตาลที่วัยทำงานได้รับจากเครื่องดื่มหวานเฉลี่ยต่อวันเท่ากับ 120.1 กรัม ปัจจัยที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มหวานเกินเกณฑ์ ได้แก่ เพศชาย การมีคนในครอบครัวดื่มเครื่องดื่มหวาน และการมีร้านขายเครื่องดื่มหวานแบบชงสดในสถานศึกษา/ที่ทำงาน จากผลการศึกษาได้เสนอแนะนโยบายจำกัดการเข้าถึงเครื่องดื่มหวานแบบชงสดในสถานศึกษาและสถานที่ทำงาน จัดทำข้อตกลงกับร้านขายเครื่องดื่มหวานในการลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มให้อยู่ในเกณฑ์ไม่เกิน 2 ช้อนชา เพิ่มเมนูทางเลือกหวานน้อย และสื่อสาร รณรงค์ไม่ให้มีเครื่องดื่มหวานติดบ้าน เพื่อลดการเข้าถึงเครื่องดื่มหวานของตนเอง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมและภาวะสุขภาพของคนในครอบครัว
ดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
ฉบับ
บท
การอนุญาต
ลิขสิทธิ์ (c) 2024 วารสารการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม

This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.