สถานการณ์ ความต้องการ และแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อจัดการสถานที่ทำงานที่เป็นมิตรกับครอบครัวในศูนย์อนามัยเขต สังกัดกรมอนามัย

ผู้แต่ง

  • กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง สำนักคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กรมอนามัย

คำสำคัญ:

สถานที่ทำงานที่เป็นมิตรกับครอบครัว, แนวปฏิบัติที่ดี, ศูนย์อนามัยเขต

บทคัดย่อ

การจัดสถานที่ทำงานที่เป็นมิตรกับครอบครัว ช่วยสร้างสมดุลชีวิตการทำงานกับครอบครัวของกลุ่มวัยทำงาน เพื่อสนับสนุนการมีบุตร การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์ ความต้องการ และแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อจัดการสถานที่ทำงานที่เป็นมิตรกับครอบครัวในศูนย์อนามัยเขต สังกัดกรมอนามัย การศึกษาแบบผสมผสานใน 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การศึกษาเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลเชิงคุณภาพถึงสถานการณ์ ความต้องการ และแนวปฏิบัติที่มีอยู่เพื่อจัดการสถานที่ทำงานที่เป็นมิตรกับครอบครัว โดยสัมภาษณ์แบบเจาะลึกผู้บริหาร 5 ราย และสนทนากลุ่มบุคลากร 35 ราย พบความต้องการใน 5 ด้าน ได้แก่ ความยืดหยุ่นในการทำงาน การเลี้ยงดูบุตร การดูแลพ่อแม่ที่ชราภาพ การสร้างรายได้ และการสงเคราะห์บุตร พบว่าบางศูนย์มีแนวปฏิบัติที่ดีให้กับบุคลากร เช่น ลดค่าบริการสถานเลี้ยงเด็กเล็กลงครึ่งหนึ่ง ปลูกผักสวนครัวหรือออกหน่วยบริการสร้างรายได้ ออมเงินและมีสวัสดิการร้านค้าเพื่อปันผลกับสมาชิก ระยะที่ 2 การศึกษาเชิงปริมาณ สำรวจความต้องการและแนวปฏิบัติที่ดี โดยใช้แบบสอบถาม ผ่าน Google Form บุคลากรอายุ 20-49 ปี จำนวน 234 ราย ที่สุ่มคัดเลือกจากตำแหน่งการปฏิบัติงานในทุกศูนย์เขต พบว่าส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุเฉลี่ย 37.74+7.26 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี เกินกว่าครึ่งแต่งงานแล้ว 1 ใน 3 เป็นคนโสดที่มีทั้งอยากและไม่อยากแต่งงาน สาเหตุที่ไม่อยากแต่งงานคือ ปัญหาเศรษฐกิจและไม่มีคนเลี้ยงบุตร คนที่อยากแต่งเพราะต้องการมีครอบครัวและมีบุตร กลุ่มตัวอย่างรับรู้ว่าปัจจุบันอัตราการเกิดที่ลดลงเป็นปัญหาเร่งด่วนของประเทศที่ต้องร่วมกันแก้ไข มีความต้องการการสนับสนุนใน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านความยืดหยุ่นในการทำงาน เช่น มีอิสระในการทำงานตามระเบียบราชการ บริหารจัดการให้เสร็จในเวลา ประชุมออนไลน์ ด้านส่งเสริมการเลี้ยงดูบุตร เช่น มีสวัสดิการสถานเลี้ยงดูเด็กที่ลดค่าบริการครึ่งหนึ่งหรือฟรี มีห้องเด็กเล่น/สนามเด็กเล่นในร่มที่ปลอดภัยช่วงปิดเทอม และให้สิทธิการลา 15 วันของสามีครอบคลุมพนักงานและลูกจ้างชั่วคราว ด้านการดูแลพ่อแม่ที่ชราภาพ เช่น สนับสนุนการลาไปดูแลยามเจ็บป่วย มีสวัสดิการ/กองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ และมีสวัสดิการเยี่ยมไข้เมื่อเข้าโรงพยาบาล ด้านการสร้างรายได้ เช่น จัดกิจกรรมสร้างรายได้ จัดตั้งสหกรณ์/ร้านค้าสวัสดิการ และออกหน่วยให้บริการนอกสถานที่สร้างรายได้ และด้านการสงเคราะห์บุตร เช่น มีทุนการศึกษา/รางวัลเรียนดี มีสวัสดิการกู้ยืมด้านการศึกษา แนวปฏิบัติที่ดีเพื่อการจัดการ ควรประกอบด้วย การจัดเวทีประชาคมสร้างการรับรู้และมีส่วนร่วม จัดลำดับความสำคัญในบางด้านที่ทำได้ทันที เช่น ลดค่าบริการสถานเลี้ยงดูเด็กลงครึ่งหนึ่ง จัดห้องพักเด็กช่วงปิดเทอม ส่งเสริมการสร้างรายได้ในหน่วยงาน สิทธิการลาของสามีครอบคลุมพนักงานและลูกจ้างชั่วคราว โดยจัดทำแนวปฏิบัติที่ดีจากส่วนกลาง และประกาศไปยังทุกหน่วยงาน ผลการศึกษาที่ได้จะใช้เป็นแนวทางให้หน่วยงานภาครัฐอื่นได้นำไปใช้วางแผนจัดการ สถานที่ทำงานที่เป็นมิตรกับครอบครัว เพื่อสนับสนุนให้คนวัยทำงานได้วางแผนมีบุตรช่วยเพิ่มจำนวนประชากรของประเทศได้ดียิ่งขึ้น

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2025-02-19

ฉบับ

บท

Original Articles (บทวิทยาการ)