การพัฒนารูปแบบการเสริมสร้างพลังชุมชนต่อความผาสุก และพฤติกรรมสุขภาพของผู้สูงอายุในจังหวัดเพชรบูรณ์

ผู้แต่ง

  • สำราญ เจริญผล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี
  • อุไรรัชต์ บุญแท้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี

คำสำคัญ:

การพัฒนารูปแบบ, พลังชุมชน, ความผาสุก, พฤติกรรมสุขภาพ, ผู้สูงอายุ

บทคัดย่อ

การศึกษานี้เป็นการวิจัยและพัฒนา มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาความผาสุกและพฤติกรรมสุขภาพของ ผู้สูงอายุในจังหวัดเพชรบุรี (2) สร้างและพัฒนารูปแบบการเสริมสร้างพลังชุมชนต่อความผาสุกและพฤติกรรมสุขภาพของผู้สูงอายุในจังหวัดเพชรบุรี (3) ประเมินประสิทธิผลของการพัฒนารูปแบบการเสริมสร้างพลังชุมชนฯ ดำเนินการ 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาความผาสุกและพฤติกรรมสุขภาพของผู้สูงอายุในจังหวัดเพชรบุรี ด้วยแบบประเมินและแบบสัมภาษณ์ความผาสุกและพฤติกรรมสุขภาพของผู้สูงอายุ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ขั้นตอนที่ 2 พัฒนารูปแบบการเสริมสร้างพลังชุมชนต่อความผาสุกและพฤติกรรมสุขภาพของผู้สูงอายุในจังหวัดเพชรบุรี โดยผู้วิจัยนำผลการวิจัยจากขั้นตอนที่ 1 มายกร่างรูปแบบ ผ่านการตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน ขั้นตอนที่ 3 ศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบการเสริมสร้างพลังชุมชน ของผู้สูงอายุในจังหวัดเพชรบุรี กลุ่มตัวอย่างจำนวน 60 คน แบ่งเป็นกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง กลุ่มละ 30 คน เครื่องมือที่ใช้เป็นรูปแบบ PHETCHARA Model และแบบประเมินความผาสุกและพฤติกรรมสุขภาพ และทดสอบความสัมพันธ์ด้วยการหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน ขั้นตอนที่ 4 ประเมินประสิทธิผลของการเสริมสร้างพลังชุมชนต่อความผาสุก และพฤติกรรมสุขภาพของผู้สูงอายุในจังหวัดเพชรบุรี กลุ่มตัวอย่างที่เป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมจากระยะที่ 3 จำนวน 60 คนหลังจากสิ้นสุดการทดลองแล้ว ประเมินรูปแบบการพัฒนาจากกลุ่มทดลอง โดยใช้แบบประเมินความพึงพอใจต่อรูปแบบฯ ผลการวิจัยพบว่า 1) ผู้สูงอายุมีความผาสุกและพฤติกรรมสุขภาพอยู่ในระดับปานกลาง 2) รูปแบบการเสริมสร้างความผาสุกและพฤติกรรมสุขภาพของผู้สูงอายุในจังหวัดเพชรบุรี คือ PHETCHARA Model ประกอบด้วย (1) P:Phetchaburi/Personal (2) H:Health Behavior (3) E:Empowerment/Elderly (4) T:Team/Technology (5) C:Community (6) H:Happiness (7) A:Activity (8) R:Reflection (9) A:Active Aging หลังใช้รูปแบบการเสริมสร้างพลังชุมชน ค่าคะแนนเฉลี่ยความผาสุกและพฤติกรรมสุขภาพของกลุ่มทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองและสูงกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (p=0.01, 0.03 ตามลำดับ) ผลการประเมินรูปแบบการพัฒนาพบว่า อยู่ในระดับมากที่สุด

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2025-02-19

ฉบับ

บท

Original Articles (บทวิทยาการ)