การจัดการความรู้ เรื่อง การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาวัยรุ่น โดยครอบครัวมีส่วนร่วม
Abstract
บทคัดย่อ
การจัดการความรู้ เรื่อง การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาวัยรุ่นโดยครอบครัวมีส่วนร่วมนี้
มีผลโดยตรงกับแผนยุทธศาสตร์ที่ 1 การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคและคุ้มครองผู้บริโภคเป็นเลิศ จังหวัดมหาสารคาม ปี 2558-2561 ในด้านแม่และเด็ก โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนากระบวนการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาวัยรุ่นโดยครอบครัวมีส่วนร่วม ผู้มีส่วนร่วมวิจัยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) มารดาที่มาคลอดที่แผนกห้องคลอดที่มีช่วงอายุ 15-19 ปี จำนวน 47 คน 2) ผู้ดูแล ได้แก่ สามี จำนวน 9 คน ญาติ จำนวน 56 คน พยาบาลห้องคลอด จำนวน 5 คน และพยาบาลเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชน จำนวน 4 คน โดยผ่านการขออนุญาตจากผู้เข้าร่วมวิจัยและยอมรับจากคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมในการศึกษาครั้งนี้ การดำเนินการวิจัยประกอบด้วย 3 ระยะ ได้แก่ ระยะวิเคราะห์สถานการณ์ ระยะพัฒนา และระยะประเมินผล ดำเนินการระหว่างเดือนตุลาคม 2559 ถึงกันยายน 2560 เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ 1) แนวคำถามการสนทนากลุ่ม
2) แบบประเมินกิจกรรมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 3) แบบประเมินการปฏิบัติตัวของมารดาวัยรุ่นในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 4) แบบบันทึกการเยี่ยมมารดาวัยรุ่น วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา
ผลการวิจัย ระยะวิเคราะห์สถานการณ์ : พบปัญหาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาวัยรุ่น ได้แก่ ด้านมารดาวัยรุ่นหลังคลอด ด้านสามี ด้านญาติ และด้านบุคลากรผู้ให้บริการ ระยะพัฒนา : เกิดกระบวนการพัฒนา 4 วงจรปฏิบัติการ เกี่ยวกับ 1) เสริมสร้างความตระหนักการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และบทบาทของบิดา มารดา และญาติ 2) สร้างระบบรองรับการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ประกอบด้วย (1) การสร้างสายใยรักความผูกพันระหว่างพ่อ แม่ ลูก และสมาชิกในครอบครัว (2) การสนับสนุนบทบาทพ่อแม่ (3) การให้ความรู้และฝึกทักษะปฏิบัติการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาวัยรุ่น (4) การฝึกทักษะสมาชิกครอบครัวในการสนับสนุน ช่วยเหลือ มารดาวัยรุ่น 3) การติดตามกำกับและประเมินผลเป็นระยะ ระยะประเมินผล : ประเมินคุณภาพกิจกรรม พบว่า มารดาและทารกแรกเกิดได้รับการส่งเสริมความผูกพันระหว่างมารดาและทารกโดยเร็วด้วยการช่วยให้แม่ลูกได้สัมผัสกันในลักษณะเนื้อแนบเนื้อ ภายใน 30 นาที ร้อยละ 97.87 ประเมินการเข้าเต้าดูดนมของทารกในการให้นมมารดา (LATCH Score) อยู่ในเกณฑ์ปกติร้อยละ 100 อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วงอายุ 0-1,i3,iและ 6iเดือนiเพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 100, 70.21 และ23.40 ตามลำดับ ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า กระบวนการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาวัยรุ่นโดยครอบครัวมีส่วนร่วม ส่งผลลัพธ์ที่ดีในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาวัยรุ่น โดยได้นำไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาวัยรุ่นในหน่วยงานห้องคลอด โรงพยาบาลนาเชือก และประกาศเป็นนโยบายแนวปฏิบัติของโรงพยาบาลนาเชือก และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับจังหวัดในงานมหกรรมวิชาการสาธารณสุขของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม ปี 2561 โดยได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในการนำเสนอผลงานวิชาการ สาขาการพยาบาล
คำสำคัญ: นมแม่, มารดาวัยรุ่น, ครอบครัวมีส่วนร่วม