เปรียบเทียบการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างและมีภาวะหายใจลำบาก ด้วยการให้ High flow nasal cannula กับการรักษาด้วยออกซิเจนมาตรฐาน
บทคัดย่อ
บทคัดย่อ
บทนำ : โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างทำให้มีภาวะหายใจลำบาก เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการรับผู้ป่วยเด็กเข้ารักษาในโรงพยาบาล การให้ออกซิเจนมาตรฐานเป็นวิธีหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะหายใจลำบากที่ได้รับความนิยม ปัจจุบันมีการนำ High flow nasal cannula (HFNC) มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยมากขึ้น
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาประสิทธิภาพทางคลินิกของการใช้ High Flow Nasal Cannula (HFNC) เปรียบเทียบกับการรักษาด้วยการใช้ออกซิเจนมาตรฐานในผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างและ
มีภาวะหายใจลำบาก
วิธีการดำเนินการ : ศึกษาข้อมูลย้อนหลังในผู้ป่วยเด็กที่มีอายุ 1 เดือน ถึง 15 ปี ที่เข้ารับการรักษาที่หอผู้ป่วยเด็ก โรงพยาบาลพัทลุง ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างและมีภาวะหายใจลำบาก ซึ่งมีระดับความรุนแรงของโรค (respiratory failure score) มากกว่าเท่ากับ 4 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 – 31 ธันวาคม 2563 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่มีการรักษาด้วย High Flow Nasal Cannula (HFNC) (จำนวน 59 ราย) และกลุ่มที่มีการรักษาด้วยออกซิเจนมาตรฐาน (จำนวน 59 ราย)
ผลการศึกษา : ผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างและมีภาวะหายใจลำบาก ที่เข้าเกณฑ์การศึกษา ทั้งหมด 118 ราย กลุ่มที่มีการรักษาด้วย High Flow Nasal Cannula (HFNC) จำนวน 59 ราย (ร้อยละ 50) และกลุ่มที่มีการรักษาด้วยออกซิเจนมาตรฐาน จำนวน 59 ราย (ร้อยละ 50) กลุ่มที่รักษาด้วย High Flow Nasal Cannula (HFNC) มีความล้มเหลวของการรักษาต้องใส่ท่อช่วยหายใจเพียง 7 ราย (ร้อยละ 11.9) น้อยกว่ากลุ่มที่รักษาด้วยออกซิเจนมาตรฐาน ซึ่งมีความล้มเหลวของการรักษาต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 17 ราย (ร้อยละ 28.8) (p-value 0.02) นอกจากนี้การใช้ High Flow Nasal Cannula (HFNC) ยังลดระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาล และลดค่าใช้จ่ายในการรักษา เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ออกซิเจนมาตรฐานได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value 0.02 และ 0.03 ตามลำดับ)
สรุป : การใช้ High Flow Nasal Cannula (HFNC) ในผู้ป่วยเด็กติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างและมีภาวะหายใจลำบากมีแนวโน้มที่มีประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีกว่าการใช้ออกซิเจนมาตรฐาน การเริ่มให้ High Flow Nasal Cannula (HFNC) เร็วในผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะหายใจลำบากระดับปานกลางถึงรุนแรง อาจช่วยลดอัตราการใส่ท่อช่วยหายใจ อีกทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลได้
คำสำคัญ : Lowerrespiratory tract infection, High Flow nasal cannula, Respiratory failure score