การพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉินจากชุมชนสู่โรงพยาบาลนครปฐม จังหวัดนครปฐม

ผู้แต่ง

  • ปรียานุช ชื่นตา โรงพยาบาลนครปฐม จังหวัดนครปฐม

บทคัดย่อ

 บทคัดย่อ

           วิจัยเชิงปฏิบัติการนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉินจากชุมชนสู่โรงพยาบาลนครปฐม จังหวัดนครปฐม โดยใช้กรอบแนวคิดของเดมมิ่ง (Deming Cycle) การดำเนินงาน มี 3 ขั้นตอน คือ 1) วิเคราะห์สถานการณ์การดูแลผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉิน 2) พัฒนาระบบการดูแลและการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลจิตเวช 3) ประเมินผลลัพธ์ กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ บุคลากรทางการพยาบาลที่คัดเลือกแบบเจาะจง 42 คน และกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉินที่ส่งต่อมาจากชุมชนเข้ารับการรักษาต่อในโรงพยาบาลนครปฐม จำนวน 34 ราย ระหว่างเดือน ตุลาคม 2560 ถึงเดือนกันยายน 2561 ประเมินผลด้วยแบบประเมินความรู้ ทัศนคติ และความเชื่อมั่น การจัดการพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงหลังอบรม 1 ปี วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าเฉลี่ยแบบสองกลุ่มที่ไม่เป็นอิสระต่อกัน และใช้การวิเคราะห์เนื้อหาในข้อมูลเชิงคุณภาพ

           ผลการศึกษาสถานการณ์การดูแลผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉินจากชุมชนสู่โรงพยาบาลนครปฐม พบว่า มีแนวปฏิบัติที่ไม่ชัดเจน ขาดการจัดการที่ต่อเนื่อง บุคลากรทางการพยาบาลขาดความรู้ ทักษะและความเชื่อมั่นในการดูแลผู้ป่วย พัฒนาระบบการดูแลโดยการประชุมเชิงปฏิบัติการและสนทนากลุ่มร่วมกับทีมพยาบาล พัฒนาเครื่องมือและระบบการส่งต่อ อบรมบุคลากรทางการพยาบาลและนำแนวทางการดูแลผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉินที่พัฒนาขึ้นไปปฏิบัติในการดูแล ผลการพัฒนาระบบการดูแลพบว่าการอบรมบุคลากรทางการพยาบาล มีคะแนนความรู้ ทัศนคติและความเชื่อมั่นสูงกว่าก่อนอบรมอย่างมีนัยสำคัญ บุคลากรมีความพึงพอใจต่อการใช้แนวทางการดูแลผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉินในระดับมาก ผลการติดตามผลลัพธ์หลังการอบรม 1 ปี พบอุบัติการณ์พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงลดลง การส่งต่อลดลง และบุคลากรบาดเจ็บลดลง จึงได้ข้อสรุปที่เป็นการพัฒนาระบบการดูแลร่วมกันเสนอแนะให้นำไปใช้เป็นแนวทางการดูแลผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉินจากชุมชนเพื่อส่งต่อไปยังโรงพยาบาลจิตเวช

        

คำสำคัญ : การพัฒนาระบบ, การดูแลผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉิน, ชุมชน, โรงพยาบาล

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-10-26

ฉบับ

บท

Original Articles (นิพนธ์ต้นฉบับ)