ผลการจัดการความปวดร่วมกับการประคบเย็นในผู้ป่วยหลังผ่าตัดยึดตรึงกระดูกขาในหอผู้ป่วยออร์โธปีดิกส์
บทคัดย่อ
บทคัดย่อ
การศึกษาแบบกึ่งทดลอง (Quasi Experimental Research) ผลการจัดการความปวดร่วมกับการประคบเย็นในผู้ป่วยหลังผ่าตัดยึดตรึงกระดูกขา หอผู้ป่วยออร์โธปีดิกส์
โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน โดยวัดคะแนนความปวดหลังผ่าตัด ความถี่ของการให้ยาลดปวดหลังผ่าตัด และระยะเวลาที่สามารถจัดการความปวดได้หลังผ่าตัด
โดยมีกลุ่มตัวอย่างจำนวน 48 ราย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มทดลอง 24 ราย ได้รับจัดการความปวดร่วมกับการประคบเย็น และกลุ่มควบคุม 24 ราย ได้รับการพยาบาลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบไปด้วยแบบประเมินความปวด Thai Short-Form McGill Pain Questionnaire (Th-SFMPQ) วัดระดับอาการปวดหลังผ่าตัดทันที ชั่วโมงที่ 4, 8, 16, 24, 32, 40, 48 วิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติเชิงพรรณนาและเชิงอนุมาน Independent t-test
ผลการศึกษาพบว่าคะแนนความปวดเฉลี่ยของกลุ่มทดลองมีคะแนนน้อยกว่ากลุ่มควบคุมคะแนนความปวดเฉลี่ยของกลุ่มทดลอง 1.66, 1.79, 1.83, 1.62, 1.70, 0.91, 0.79 และ 0.45 ตามลำดับ กลุ่มควบคุมคะแนนความปวดเฉลี่ย 5.04, 5.00, 5.83, 4.62, 3.87, 3.41, 3.00 และ 2.83 ตามลำดับ โดยทั้งสองกลุ่มอาการปวดเริ่มลดลงต่อเนื่องในชั่วโมงที่ 16
เมื่อเปรียบเทียบค่าคะแนนเฉลี่ยความปวดของกลุ่มทดลองต่ำกว่ากลุ่มความคุมที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < 0.05) ความถี่ของการได้รับยาลดปวดกลุ่มทดลองที่ 1.58 ครั้ง และกลุ่มควบคุมที่ 2.50 ครั้ง เมื่อเปรียบเทียบกันมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value = 0.016) ระยะเวลาที่สามารถจัดการความปวดกลุ่มทดลอง 3.54 ชั่วโมง และกลุ่มควบคุม 11.50 ชั่วโมง เมื่อเปรียบเทียบกันมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value = 0.01)
ผลการศึกษาครั้งนี้สามารถนำไปพัฒนาการดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดยึดตรึงกระดูกขา แบบองค์รวมโดยทีมสหวิชาชีพ โดยการจัดทำเป็นแนวปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดยึดตรึงกระดูกขา การจัดการอาการปวดร่วมกับการประคบเย็น เป็นประโยชน์กับผู้ป่วย ภายใต้มาตรฐานวิชาชีพ
คำสำคัญ : ปวด, การจัดการปวด, การประคบเย็น, ผู้ป่วยหลังผ่าตัดยึดตรึงกระดูกขา