คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมในโรงพยาบาลบรบือ
บทคัดย่อ
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมในโรงพยาบาลบรบือ
วิธีวิจัย : เป็นการศึกษาวิจัยเชิงพรรณนา กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ จำนวน 30 คน เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบวัดคุณภาพชีวิต modified WOMAC ฉบับภาษาไทย วิเคราะห์ข้อมูลด้วย ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบน สถิติทดสอบที และการทดสอบไคสแคว์
ผลการวิจัย : 1) คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมในด้านความปวด พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีคะแนนความปวดมากที่สุดในขณะปวดข้อขณะยืนลงน้ำหนัก ด้านอาการข้อฝืด/ข้อยึด พบว่า ผู้ป่วยรู้สึกว่าเป็นปัญหาในระดับน้อย ด้านความสามารถในการใช้งานข้อ พบว่า กิจกรรมที่กลุ่มตัวอย่างทำได้ยากที่สุด คือ การทำงานบ้านหนักๆ 2) การเปรียบเทียบข้อมูลทั่วไประหว่างกลุ่มผู้ป่วยที่มีความรุนแรงระยะต้นและระยะปลาย พบว่า อายุและจำนวนข้างของข้อเข่าเสื่อมมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (p = 0.009 และ p = 0.022 ตามลำดับ) 3) การเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตระหว่างกลุ่มผู้ป่วยที่มีความรุนแรงระยะต้นและระยะปลาย ในมิติความปวด พบว่า ความปวดขณะเดิน ขณะขึ้นลงบันได และขณะยืนลงน้ำหนัก มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (p = 0.013, 0.047 และ p = 0.04 ตามลำดับ) ในมิติความฝืดของข้อ พบว่า อาการข้อฝืดในช่วงระหว่างวันมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (p = 0.008) ในมิติความสามารถในการใช้งานของข้อ พบว่า การลงบันได การยืน การเดินบนพื้นราบ การขึ้นลงรถยนต์ การไปซื้อของนอกบ้านหรือการไปจ่ายตลาด การใส่กางเกง การลุกจากเตียง การถอดกางเกง การนั่งส้วม การนั่ง การอาบน้ำ การทำงานบ้านเบาๆ การทำงานบ้านหนักๆ มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (p = 0.003, 0.002, <0.001, <0.001, 0.001, <0.001, 0.02, 0.007, 0.005, 0.005, <0.001, 0.002 และ <0.001 ตามลำดับ)
สรุป : โรคข้อเข่าเสื่อมมีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยทั้งในด้านความปวดและด้านความสามารถในการใช้งานข้อ ที่ระดับความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยที่ต่างกันมีผลต่อคุณภาพชีวิตในแต่ละมิติอย่างมีนัยสำคัญ บุคลากรทางการแพทย์ร่วมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดูและผู้ป่วย ควรพิจารณาถึงแนวทางการลดอาการปวดในมิติที่มีปัญหา เพื่อจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น
คำสำคัญ: คุณภาพชีวิต, โรคข้อเข่าเสื่อม