การพยาบาลผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันและได้รับยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ: กรณีศึกษา 2 ราย

ผู้แต่ง

  • นพิศพรรณ ทีบุตร งานอุบัติเหตุฉุกเฉินและนิติเวช กลุ่มงานการพยาบาล โรงพยาบาลกันทรวิชัย

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

           โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ชนิดหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน (STEMI) เป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญของประเทศไทย เนื่องจากเป็นภาวะวิกฤตที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างกะทันหัน มีสาเหตุจากการอุดตันของหลอดเลือดแดง ที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจโดยสมบูรณ์ดังนั้นผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาแบบเร่งด่วนโดยการให้ยาละลายลิ่มเลือด

           วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาการพยาบาลผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน และได้รับยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ กรณีศึกษา 2 ราย ที่ห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน
โรงพยาบาลกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม

           วิธีการศึกษา : การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา ศึกษาผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่ได้รับยาละลายลิ่มเลือด กรณีศึกษา 2 ราย ที่เข้ารับการรักษาในห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน โรงพยาบาลกันทรวิชัย แบบระบบช่องทางด่วน (STEMI FAST TRACK BY PASS) ดำเนินการศึกษาระหว่าง 1 ตุลาคม 2563 ถึง 31 กรกฎาคม 2564 เครื่องมือที่ใช้ คือ การสัมภาษณ์ สังเกต และเวชระเบียน ประเมินผู้ป่วยตามแบบแผนสุขภาพของกอร์ดอน และกำหนดข้อวินิจฉัยการพยาบาลผู้ป่วยตามแนวทางของสมาคมวินิจฉัยการพยาบาลแห่งอเมริกา

           ผลการศึกษา : กรณีศึกษาทั้ง 2 ราย มีความคล้ายคลึงของอาการแสดงนำที่ชัดเจน คือ แน่นหน้าอก เหงื่อออกและตัวเย็น  โดยกรณีศึกษาทั้งสองรายมีปัญหาเกี่ยวกับการรับรู้ปัญหาสุขภาพแตกต่างกัน รายที่ 1 รับรู้ว่าอาการเจ็บป่วยครั้งนี้รุนแรง รายที่ 2 รับรู้ว่าการเจ็บป่วยไม่รุนแรง เนื่องจากมีอาการคล้ายโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ และมีอาการรุนแรงระหว่างการรักษาแตกต่างกัน โดยรายที่ 1 มีภาวะ Ventricular Fibrillation ได้รับการ Defibrillations และปฏิบัติการช่วยชีวิต Cardio Pulmonary Resuscitation (CPR) หลังจากได้รับยา รายที่ 2 มีภาวะ Cardiogenic Shock หลังจากได้รับยา ทั้งสองรายมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะของโรค และมีพฤติกรรมเสี่ยงที่สำคัญ คือ พฤติกรรมการสูบบุหรี่ 

           สรุป : จากกรณีศึกษา บทบาทพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันในภาวะวิกฤติ มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการประเมิน คัดกรองผู้ป่วยอย่างถูกต้อง
รวดเร็ว ขณะมาถึงโรงพยาบาลทำให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง และได้รับการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดอย่างรวดเร็ว พยาบาลต้องมีความรู้ ในเรื่องการบริหารยาและการเฝ้าระวังอาการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วย นับตั้งแต่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาจนกระทั่งส่งต่อ ไปโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า ส่งผลทำให้ลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย

 

คำสำคัญ : กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน, ยาละลายลิ่มเลือด, การพยาบาล, กรณีศึกษา

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-10-26

ฉบับ

บท

Original Articles (นิพนธ์ต้นฉบับ)