พัฒนารูปแบบการพยาบาลผู้ป่วยเท้าเบาหวาน โรงพยาบาลตรัง

ผู้แต่ง

  • เพ็ญศรี แคนยุกต์

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

           การวิจัยและพัฒนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและประเมินประสิทธิผลของรูปแบบการพยาบาลผู้ป่วยเท้าเบาหวาน โรงพยาบาลตรัง พื้นที่ศึกษา คือ หอผู้ป่วยศัลยกรรม
โรงพยาบาลตรัง กลุ่มตัวอย่างเลือกแบบเฉพาะเจาะจง แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) พยาบาลวิชาชีพจำนวน 40 คน 2) ผู้ป่วยเท้าเบาหวาน จำนวน 54 คน 3) ญาติ/ผู้ดูแล จำนวน 54 คน
การดำเนินวิจัยแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1) ศึกษาสถานการณ์และสภาพปัญหา 2) สร้างรูปแบบการพยาบาลผู้ป่วยเท้าเบาหวาน โดยพัฒนารูปแบบจากแนวปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยเท้าเบาหวานซึ่งได้จากหลักฐานเชิงประจักษ์ 3) ประเมินประสิทธิภาพของรูปแบบที่พัฒนาขึ้น เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบบันทึกข้อมูลทั่วไป แบบประเมินความรู้เกี่ยวกับการพยาบาลผู้ป่วยเท้าเบาหวาน  แบบประเมินทักษะการดูแลเท้าผู้ป่วยเบาหวาน แบบประเมินความพึงพอใจของพยาบาล แบบวัดผลลัพธ์การดูแลผู้ป่วยแผลเท้าเบาหวาน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ paired sample t-test 

           ผลการวิจัยพบว่า รูปแบบที่พัฒนาขึ้นประกอบด้วย 4 หมวด ได้แก่ หมวดที่ 1 การประเมิน คัดกรอง และจำแนกผู้ป่วยเบาหวาน ตามระดับความเสี่ยงต่อการเกิดแผลเท้าเบาหวาน หมวดที่ 2 การดูแลแผลเท้าเบาหวานเพื่อส่งเสริมการหายของแผล หมวดที่ 3 การวางแผนจำหน่ายเพื่อการดูแลแผลเท้าเบาหวานต่อเนื่องที่บ้านและในระยะยาว และหมวดที่ 4
การประสานความร่วมมือกับแพทย์ ผลลัพธ์ของการใช้รูปแบบการพยาบาลที่พัฒนาขึ้น พบว่า 1) พยาบาลมีการปฏิบัติการพยาบาลตามรูปแบบการพยาบาลแผลเท้าเบาหวานที่พัฒนาขึ้น ร้อยละ 100 2) คะแนนความรุนแรงของแผลเท้าเบาหวานต่ำกว่าก่อนการใช้รูปแบบการพยาบาล อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (p<0.001) 3) ความก้าวหน้าในการหายของแผลมากที่สุด คือ ปริมาณเนื้อตาย รองลงมา คือ ลักษณะเนื้อตาย ลักษณะของสิ่งขับหลั่งและสีของผิวหนังรอบแผล ตามลำดับ  4) คะแนนความรู้เกี่ยวกับการดูแลเท้าของผู้ป่วยเบาหวานและญาติสูงกว่าก่อนการใช้รูปแบบการพยาบาล อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (p<0.001) 5) ความพึงพอใจของผู้ป่วยเท้าเบาหวานต่อรูปแบบการพยาบาลอยู่ในระดับมาก 6) คะแนนความรู้ของพยาบาลเกี่ยวกับการพยาบาลผู้ป่วยเท้าเบาหวานสูงกว่าก่อนการใช้รูปแบบการพยาบาล อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (p<0.001) 7) คะแนนทักษะการดูแลเท้าผู้ป่วยเบาหวานโดยภาพรวมสูงกว่าก่อนการใช้รูปแบบการพยาบาลiอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (p<0.001) โดยพบว่าทักษะการประเมินดัชนีการไหลเวียนเลือดที่เท้า ABI มีความแตกต่างมากที่สุด 8) ความพึงพอใจของพยาบาลต่อการใช้รูปแบบการพยาบาลผู้ป่วยเท้าเบาหวานพบว่า อยู่ในระดับมาก และ 9) ไม่พบการติดเชื้อของแผลและการกลับมารักษาซ้ำของผู้ป่วยเท้าเบาหวาน ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า รูปแบบการพยาบาลที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดูแลเท้าเบาหวาน 

 

คำสำคัญ : รูปแบบการพยาบาล, การใช้หลักฐานเชิงประจักษ์, เท้าเบาหวาน

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2022-05-17

ฉบับ

บท

Original Articles (นิพนธ์ต้นฉบับ)