การพยาบาลผู้สูงอายุโรคเรื้อรังมีภาวะพึ่งพิง : กรณีศึกษา

ผู้แต่ง

  • ทิฐินันท์ บุญเต็ม

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

           วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาการพยาบาลผู้สูงอายุโรคเรื้อรังมีภาวะพึ่งพิง

           วิธีการศึกษา : การศึกษาเพื่อเปรียบเทียบผู้สูงอายุโรคเรื้อรังมีภาวะพึ่งพิง จำนวน 2 ราย ที่เข้ารับการดูแลในระบบการดูแลระยะยาวในพื้นที่ตำบลน้ำอ้อม อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ดำเนินการศึกษาระหว่างวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2563 ถึง 30 เมษายน พ.ศ. 2564 เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วยแบบบันทึกข้อมูล เก็บรวบรวมข้อมูลจากเวชระเบียนผู้สูงอายุ การสัมภาษณ์ผู้สูงอายุและญาติ การสังเกต การวิเคราะห์ข้อมูล การวิเคราะห์เปรียบเทียบภาวะสุขภาพโดยใช้แบบแผนสุขภาพของกอร์ดอน พยาธิสภาพโรคเรื้อรัง อาการและอาการแสดง การรักษา ปัญหาและข้อวินิจฉัยทางการพยาบาล และการพยาบาล

           ผลการศึกษา : พบว่าผู้สูงอายุโรคเรื้อรังมีภาวะพึ่งพิงทั้ง 2 ราย มีปัญหาทางการพยาบาลที่เหมือนกัน คือ ผู้สูงอายุและญาติขาดความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับโรคเรื้อรัง ความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันลดลง ผู้สูงอายุ รายที่ 1 อาศัยอยู่ในชุมชนเมือง จะมีความพร้อมด้านที่อยู่อาศัย แต่มีปัญหาด้านการสื่อสารและรับรู้จากโรคอัลไซเมอร์ มีผู้ดูแลเป็นบุตรสาว 2 คน ส่วนผู้สูงอายุรายที่ 2 อาศัยในชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท การสื่อสารและการรับรู้ปกติ มีปัญหา Empowerment เนื่องจากผู้ดูแลต้องไปทำงานนอกบ้าน ผู้สูงอายุต้องอยู่บ้านตามลำพัง บ้านที่อยู่อาศัยยังสร้างไม่เสร็จ แต่มีหน่วยงานในชุมชนช่วยเหลือปรับปรุงบ้านจนอยู่ในสภาพที่พร้อมในการดูแลผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตามผู้สูงอายุ ทั้ง 2 ราย มีความต้องการทีมสหวิชาชีพในการดูแลที่บ้าน เนื่องจากพบภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น รวมทั้งความยากของการปฏิบัติการพยาบาลแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโรคประจำตัว ความล่าช้าในการเข้ารับการรักษาพยาบาล และความพร้อมของผู้ดูแลหลักในการดูแลผู้สูงอายุ       

           สรุปผลการศึกษา : ในการพยาบาลผู้สูงอายุโรคเรื้อรังมีภาวะพึ่งพิง พยาบาลจำเป็นต้องมีสมรรถนะในการปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วย การให้คำปรึกษา การสอน การสื่อสารกับผู้ป่วย ผู้ดูแล และครอบครัว การบริหารจัดการ การประสานงาน และมีระบบการดูแลระยะยาว โดยมีผู้ดูแลชุมชนมีส่วนร่วม รวมถึงการค้นหาสาเหตุของภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องอันเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ และมีทีมสหวิชาชีพลงเยี่ยมบ้านอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีความปลอดภัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามความเหมาะสม

คำสำคัญ : ผู้สูงอายุพึ่งพิง, ผู้ดูแลชุมชน, ระบบการดูแลระยะยาว

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2022-05-17

ฉบับ

บท

Original Articles (นิพนธ์ต้นฉบับ)