ความชุกของปัจจัยเสี่ยงและผลลัพธ์ของการฟื้นฟูระดับความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17

ผู้แต่ง

  • วรนุช เทพาวัฒนาสุข

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

           วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาถึงปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและผลลัพธ์ของการฟื้นฟูความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยก่อนจำหน่ายออกจาก
โรงพยาบาล

           วิธีการศึกษา : การศึกษานี้เป็นการศึกษาย้อนหลังเชิงพรรณนาและวิเคราะห์โดยศึกษาข้อมูลจากการสืบค้นประวัติเวชระเบียนของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่เข้ารับการฟื้นฟูสภาพ จำนวน 120 แฟ้ม ตั้งแต่เดือน 1 ตุลาคม 2563 – 31 มีนาคม 2564 ที่งานกายภาพบำบัดกลุ่มงานเวชกรรมฟื้นฟู โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17 โดยศึกษาข้อมูลพื้นฐาน ปัจจัยเสี่ยงวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา ได้แก่ จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และคะแนนความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน แรกรับและก่อนจำหน่ายเปรียบเทียบโดยใช้ สถิติเชิงปริมาณ paired t-test

           ผลการศึกษา : ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง จำนวน 120 คน พบว่าเพศชาย มากกว่า เพศหญิง อายุเฉลี่ย คือ 63.12 ± 14.58 ปี ส่วนใหญ่เป็นโรคสมองหลอดเลือดตีบหรืออุดตัน ร้อยละ 96.62 ปัจจัยเสี่ยงที่พบส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว คือ โรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 87.5 ไขมันในเลือดสูง ร้อยละ 72.5 และพบว่าผู้ป่วยขาดการออกกำลังกายถึง ร้อยละ 77.5 มีภาวะอ้วนถึง ร้อยละ 62.5 ส่วนโรคเบาหวาน สูบบุหรี่ ดื่มสุรา และหัวใจสั่นพลิ้ว พบน้อยลงไป คือ 32.5, 24.1, 13.3 และ 7.5 ตามลำดับ ความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวันก่อนฟื้นฟูสภาพขณะนอนโรงพยาบาลของผู้ป่วย อยู่ในระดับปานกลาง (M = 52.92, SD = 31.93) และความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวันหลังฟื้นฟูสภาพก่อนจำหน่ายออกจาก
โรงพยาบาล อยู่ในระดับมาก (M = 72.21, SD = 30.36) เมื่อเปรียบเทียบคะแนนความแตกต่างของความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวันก่อนและหลังฟื้นฟูสภาพ พบว่า
มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .05 (p< 0.001)

           สรุป : ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ในโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 17 ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและพบปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเกิดโรคที่สำคัญ คือ โรคความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูงและขาดการออกกำลังกาย ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ควรให้ความสำคัญกับปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้เป็นลำดับแรกๆ เพื่อป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่ได้รับการฟื้นฟูสภาพ ค่าคะแนนความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน เมื่อจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลสู่ชุมชนมีค่าเพิ่มขึ้นจากคะแนนความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวันแรกรับเข้าโรงพยาบาล

 

คำสำคัญ : โรคหลอดเลือดสมอง, ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง, ความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2022-05-17

ฉบับ

บท

Original Articles (นิพนธ์ต้นฉบับ)