ผลข้างเคียงและผลลัพธ์การคลอดในหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ในจังหวัดตรัง

ผู้แต่ง

  • เพรียว บริสุทธิ์

บทคัดย่อ

                                                                           บทคัดย่อ

            ในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 หญิงตั้งครรภ์ถูกพิจารณาให้รับวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัส แม้ข้อมูลความปลอดภัยของวัคซีนจะมีจำกัด การวิจัยเชิงพรรณนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลข้างเคียงและผลลัพธ์การคลอดในหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ในจังหวัดตรัง จำนวน 410 คน เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน 2565 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบบันทึกผลข้างเคียงของวัคซีนและผลลัพธ์การคลอด วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา

            ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างอายุเฉลี่ย 29.31±5.78 ปี จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี 29.5%  มีรายได้ครอบครัวเฉลี่ย 14,492.68 ±7,172.09 บาท รับวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 จำนวน 2 เข็ม 76.8% โดยรับวัคซีนเข็มแรกและเข็มสองเป็น Sinovac 81.37% และ 77.32% ตามลำดับ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่มีอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนภายใน 30 นาที 7 วัน และ 30 วัน อาการข้างเคียงที่พบส่วนใหญ่ คือ ปวด บวม แดง ร้อน คันบริเวณที่ฉีดภายใน 7 วันหลังฉีด กลุ่มตัวอย่างไม่มีภาวะแทรกซ้อนทางสูติกรรม 84.4% คลอดปกติ 49.5% และผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง 49.3%  พบภาวะความดันโลหิตสูงขณะคลอดและหลังคลอด 28.57% น้ำหนักแรกเกิดของทารกเฉลี่ย 3,232.05±2,215.29 กรัม APGAR scores นาทีที่ 1, 5 และ 10 อยู่ระหว่าง 7 - 10 คะแนน และพบการพักรักษาตัวในแผนกทารกแรกเกิดวิกฤต 15.3% จะเห็นว่าการได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 มีความปลอดภัยต่อมารดาและทารก และเกิดผลข้างเคียงน้อย จึงควรมีการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมให้หญิงตั้งครรภ์เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 อย่างทั่วถึง

 

คำสำคัญ : ผลข้างเคียง, ผลลัพธ์การคลอด, หญิงตั้งครรภ์, วัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2022-12-02

ฉบับ

บท

Original Articles (นิพนธ์ต้นฉบับ)