การพยากรณ์โอกาสเสียชีวิตภายใน 3 เดือนแรกหลังการรักษาของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่รักษาด้วยการล้างไตทางช่องท้อง
บทคัดย่อ
บทคัดย่อ
ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่รักษาด้วยการล้างไตทางช่องท้อง มีอัตราการเสียชีวิตสูงมากถึงเกือบ 1 ใน 5 ใน 3 เดือนแรก การศึกษานี้ต้องการหาปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเสียชีวิตภายใน 3 เดือนแรกของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่รักษาด้วยการล้างไตทางช่องท้อง
วิธีการศึกษา เป็นการศึกษาย้อนหลังในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย หลังทำการรักษาด้วยการล้างไตทางช่องท้องในโรงพยาบาลหนองคาย ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2560 ถึง 1 ตุลาคม 2563 จำนวน 149 ราย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่รักษาด้วยการล้างไตทางช่องท้องและเสียชีวิต ภายในเวลา 3 เดือนของการรักษา จำนวน 29 ราย และกลุ่มผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่รักษาด้วยการล้างไตทางช่องท้องและมีชีวิตเกิน 3 เดือนหลังการรักษา จำนวน 120 ราย แล้วเปรียบเทียบทั้ง 2 กลุ่มแต่ละปัจจัย โดยใช้สถิติ Pearson chi – square test แล้วนำปัจจัยที่มีนัยสำคัญทางสถิติมาศึกษาผลกระทบต่อกันด้วยสถิติ Multiple logistic regression
ผลการศึกษา : ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเสียชีวิตภายใน 3 เดือนแรกของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่รักษาด้วยการล้างไตทางช่องท้อง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ โรคร่วมอัมพาต (OR = 9.44, 95% CI: 2.74-206.48) การคั่งของของเสียหรือยูรีเมีย (OR = 8.55, 95% CI: 1.09-21.23) ความหนาแน่นของมวลกล้ามเนื้อน้อยกว่าหรือเท่ากับ 19 (OR = 5.55, 95% CI: 1.88-33.47) ภาวะน้ำเกิน (OR = 5.29,95% CI: 1.14-18.02) โดยมีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มเป็น 9.44, 8.55, 5.55, 5.29 เท่าของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่รักษาด้วยการล้างไตทางช่องท้องและมีชีวิตเกิน 3 เดือน ตามลำดับ จึงใช้ในการพยากรณ์ว่าผู้ป่วยที่มีปัจจัยเหล่านี้ถ้ารักษาด้วยการล้างไตผ่านทางช่องท้องโอกาสเสียชีวิตภายใน 3 เดือนแรกสูงมาก อาจจะแนะนำให้ใช้การรักษาด้วยการประคับประคอง
คำสำคัญ : ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย, การล้างไตทางช่องท้อง, การเสียชีวิต, ปัจจัยเสี่ยง