การพัฒนารูปแบบการเข้าถึงบริการของผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น
บทคัดย่อ
บทคัดย่อ
การวิจัยเชิงปฏิบัติการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการเข้าถึงบริการของผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น ภายใต้บริบทมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดมหาสารคาม ผู้ร่วมวิจัยประกอบด้วย นักศึกษาในมหาวิทยาลัย จำนวน 180 คน อาจารย์ที่ปรึกษา จำนวน 100 คน ตัวแทนองค์การนักศึกษา จำนวน 90 คน คณะกรรมการบริหารหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จำนวน 20 คน เจ้าหน้าที่ศูนย์สุขภาพชุมชนที่ให้บริการนักศึกษาของมหาวิทยาลัย จำนวน 10 คน รวมทั้งสิ้น 400 คน ดำเนินการ 3 ขั้นตอน 1) การสร้างความรู้ (Appreciation) 2) การสร้างแนวทางในการพัฒนา (Influence) 3) การสร้างแนวทางปฏิบัติ (Control) ดำเนินการระหว่างเดือน พฤษภาคม 2561 – พฤษภาคม 2562 โดยรวบรวมข้อมูล 1) สถานการณ์ปัญหาระบบบริการผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าของวัยรุ่นในมหาวิทยาลัย จากการสังเกตและการสัมภาษณ์ 2) การประเมินการเข้าถึงบริการของผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น จากฐานข้อมูลผู้รับบริการคัดกรองภาวะซึมเศร้า สถิติผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าเอกสารวิชาการ 3) ความรู้เกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่นก่อนและหลังการเข้าร่วมการวิจัย จากแบบประเมินความรู้เกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าของวัยรุ่น วิเคราะห์ข้อมูลปริมาณโดยใช้ความถี่ ค่าร้อยละ ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เชิงเนื้อหาจากการถอดบทเรียน
ผลการวิจัย พบว่า 1) รูปแบบการเข้าถึงบริการของผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่นในมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ ได้แก่ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยงที่มีภาวะซึมเศร้า การพัฒนาระบบคัดกรองผู้ป่วย และการพัฒนาเครือข่ายการเฝ้าระวังและป้องกันโรคซึมเศร้าในวัยรุ่น 2) ผลลัพธ์ของการนำรูปแบบที่พัฒนาไปใช้ พบว่า นักศึกษาในมหาวิทยาลัยได้รับการคัดกรองภาวะซึมเศร้า (2Q 9Q) เพิ่มขึ้น ครอบคลุมนักศึกษาทุกชั้นปี คิดเป็นร้อยละ 89.54 มีนักศึกษาที่มีภาวะซึมเศร้า ร้อยละ 17.18 คิดทำร้ายตนเอง ร้อยละ 3.62 โดยทั้งหมดได้รับการให้คำปรึกษาคลินิกวัยรุ่นศูนย์สุขภาพชุมชนที่ให้บริการนักศึกษาของมหาวิทยาลัย และส่งต่อรักษาที่โรงพยาบาล ไม่มีอัตราการฆ่าตัวตาย มีระบบติดตามเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยงทุกราย กลุ่มอาจารย์ที่ปรึกษาและอาสาสมัครในมหาวิทยาลัย (อสน.ม) เครือข่ายกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน พี่ช่วยน้องได้รับการพัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าและ การคัดกรอง และการให้สุขภาพจิตศึกษา ทำให้มีความรู้ถูกต้องเหมาะสมยิ่งขึ้น หลังจากการเข้าร่วมการพัฒนาศักยภาพ พบว่า ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า อยู่ในระดับสูง คิดเป็นร้อยละ 88.45 ระดับปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 11.55 เกิดกลุ่มเครือข่ายการดำเนินงานที่ประกอบด้วย กลุ่มอาจารย์ที่ปรึกษา อาสาสมัครนักศึกษาในมหาวิทยาลัย (อสน.ม) ช่วย คัดกรอง ประเมิน เฝ้าระวังและค้นหากลุ่มเสี่ยงในมหาวิทยาลัย รวมทั้งการให้สุขภาพจิตและคำปรึกษาเบื้องต้น ก่อนที่จะส่งต่อเข้ารับการประเมินและส่งต่อรักษา มีคณะกรรมการบริหารหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประกอบไปด้วย ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และภาคส่วนการศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อเสนอแนวทาง การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินกิจกรรม รวมทั้งการติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยความสำเร็จครั้งนี้ คือ การขับเคลื่อนการดำเนินงานโดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย ทั้งภาคเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคท้องถิ่นและบูรณาการผ่านระบบการเรียนรู้ร่วมกันของนักศึกษา Inter Professional Education (IPE) ก่อให้เกิดความยั่งยืนและเข็มแข็งในการแก้ไขปัญหาประสิทธิภาพ
คำสำคัญ : การเข้าถึงบริการ, ภาวะซึมเศร้า, วัยรุ่น, นักศึกษามหาวิทยาลัย