การพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลหญิงตั้งครรภ์คลอดที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษชนิดรุนแรง ห้องคลอด โรงพยาบาลชัยภูมิ
บทคัดย่อ
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลหญิงตั้งครรภ์คลอดที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษชนิดรุนแรง ห้องคลอด โรงพยาบาลชัยภูมิ โดยประยุกต์ใช้ตามแนวความคิดไอโอวาโมเดล กลุ่มเป้าหมายเป็นพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในห้องคลอด ที่มีความรู้ความชำนาญงานห้องคลอด จำนวน 5 คน นำแนวปฏิบัติที่พัฒนาขึ้นไปใช้กับหญิงตั้งครรภ์คลอดที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษชนิดรุนแรงที่มารับบริการห้องคลอด จำนวน 60 คน ศึกษาตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 ถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ประกอบด้วย 1) แบบบันทึกข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับอายุ อายุครรภ์ การตั้งครรภ์ครั้งที่ของหญิงตั้งครรภ์คลอดที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษชนิดรุนแรง ห้องคลอด 2) แบบประเมินการปฏิบัติการพยาบาลหญิงตั้งครรภ์คลอดที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษชนิดรุนแรงระยะเฉื่อย (Latent phase) และระยะเร่ง (Active phase) ผ่านการตรวจสอบค่าความเที่ยงได้ค่าสัมประสิทธิ์ของความเที่ยงเท่ากับ 0.78
ผลการศึกษาพบว่า
1. ได้แนวปฏิบัติที่พัฒนาเพื่อการพยาบาลผู้ป่วยหญิงตั้งครรภ์คลอดที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษชนิดรุนแรงในห้องคลอด ประกอบด้วย 2 ระยะ ได้แก่ 1) ระยะเฉื่อย (Latent phase) 2) ระยะเร่ง (Active phase)
2. หญิงตั้งครรภ์คลอดที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษ ส่วนใหญ่อายุอยู่ระหว่าง 24 - 33 ปี ร้อยละ 60 ตั้งครรภ์ที่ 1 ร้อยละ 33 อายุครรภ์ 35 - 37 สัปดาห์ ร้อยละ 65 วิธีการคลอด เลือกการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง ร้อยละ 84 ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนกับหญิงตั้งครรภ์คลอดที่มีภาวะความดันโลหิตสูงชนิดรุนแรง
3. พยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในห้องคลอด สามารถปฏิบัติตามแนวปฏิบัติ ในระยะเฉื่อย (latent phase) ได้ร้อยละ 100 ตามแนวปฏิบัติทั้ง 10 ข้อ ส่วนในระยะเร่ง (active phase) สามารถปฏิบัติตามได้ 9 ข้อ ร้อยละ 100 ข้อ 8 การประเมินการหายใจและการประเมินภาวะออกซิเจนในเลือดทุก 1 ชม. ปฏิบัติได้ ร้อยละ 83 ปฏิบัติไม่ได้ ร้อยละ 17 เนื่องจากมีการคลอดด้วยการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง
ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า แนวปฏิบัติการพยาบาลที่พัฒนาขึ้นสามารถนำสู่การปฏิบัติได้จริง และมีข้อเสนอแนะในการนำไปประยุกต์ใช้โดยคำนึงถึงบริบทของแต่ละหน่วยงาน
คำสำคัญ : แนวปฏิบัติการพยาบาล หญิงตั้งครรภ์คลอด ภาวะครรภ์เป็นพิษชนิดรุนแรง